fbpx

รู้จัก OVOP หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ ต้นแบบของ OTOP จากญี่ปุ่น – Factsheet No.15

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในบ้านเรา ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันก็ครบ 20 ปีพอดิบพอดี วันนี้ Factsheets จะพาไปดูว่า ต้นกำเนิดแรกของแนวคิด 1 พื้นที่ 1 ผลิตภัณฑ์ มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และปัจจุบันแนวคิดนี้พัฒนาไปถึงไหนอย่างไรบ้าง

OVOP ต้นกำเนิดของ OTOP
โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2522 ในชื่อภาษาอังกฤษคือ One Village One Product หรือ OVOP ที่จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยคัดสรรผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่า และพัฒนาเป็นธุรกิจเพื่อนำรายได้มายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในแต่ละหมู่บ้าน มีสินค้าได้แค่ เห็ดชิตาเกะ เนื้อวัว ปลาอาจิ โชจูข้าวบาร์เลย์ และอื่น ๆ มากกว่า 300 ผลิตภัณฑ์
.
หลักปรัชญาของ OVOP
มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ส่งเสริมการรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรม โดยคิดระดับโลก แต่ทำระดับท้องถิ่น (Local yet Global)
2. เป็นอิสระ พึ่งพาตนเอง และคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self-reliance and Creativity) โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์มาเข้าร่วมโครงการ โดยภาครัฐจะสนับสนุนเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการตลาด
3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) เน้นสร้างคนให้มีความกล้าท้าทายและมีวิสัยทัศน์ สร้างผู้นำกระบวนการพัฒนาในแต่ละชุมชน

ความสำเร็จของโครงการ OVOP ทำให้จังหวัดโออิตะซึ่งเคยมีรายได้ประชากรต่ำสุดในเกาะคิวชู มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และทำให้ผู้ที่ออกไปทำงานที่อื่นทยอยกลับสู่ภูมิลำเนาได้เป็นจำนวนมาก

OVOP วันนี้
ในปี พ.ศ.2532 จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันได้นำโครงการ OVOP ไปใช้ในประเทศตนเอง เฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ จนถึงปี 2558 มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมแล้วมากถึง 11,000 หมู่บ้าน

สำหรับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2544 รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ได้นำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาเป็นโครงการหลักโครงการหนึ่งของรัฐบาล โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ลักษณะเฉพาะที่ผลิตและจำหน่ายในท้องถิ่นแต่ละตำบล โดยได้รับแรงบันดาลใจมากจากโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่ 3 ที่นำแนวคิดของ OVOP มาใช้พัฒนาวิสาหกิจชุมชนของประเทศ

คณะกรรมการแลกเปลี่ยนการส่งเสริม OVOP ในระดับนานาชาติของจังหวัดโออิตะ (Oita OVOP International Exchange Promotion Committee) ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่นำ OVOP ไปประยุกต์ใช้ทั่วโลกได้ก่อตั้ง พันธมิตร 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ นานาชาติ (International One Village One Product Alliance : IOVOP) ขึ้น

ปัจจุบันมีประเทศที่นำแนวคิด OVOP ไปใช้แล้วถึง 43 ประเทศ ประเทศล่าสุดคืออาร์เจนตินา ในปี 2562

ที่มา
https://iovop.org/
http://www.mcc.cmu.ac.th/research/mccconference48/papers/MCC2005_12.pdf