fbpx

Coach, Advisor, Mentor หรือ Consultant ตกลงแล้วเวลาเราเจอปัญหา เราควรปรึกษาใครกันแน่ – Factsheet No.43

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

เวลาที่เราเจอกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิต ปัญหาการศึกษา ปัญหาทางธุรกิจ หนทางนึงที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ก็คือการขอความช่วยเหลือจากใครสักคน

แต่ใครสักคนที่เรานึกถึง อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป จนบางทีเราก็แยกไม่ค่อยออกว่า โค้ช แอดไวเซอร์ เมนทอร์ คอนซัลแทนท์ มีความเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง (แถมเวลาแปลเป็นภาษาไทย อย่าง Advisor กับ Consultant ก็ดันแปลว่าที่ปรึกษาเหมือน ๆ กันไปอีก) แล้วสรุปว่าจริง ๆ ตอนที่เรากำลังต้องการความช่วยเหลือ เราจะต้องมองหาใครกันแน่ วันนี้ Factsheets จะมาเฉลยให้ฟัง เพื่อคุณจะได้รู้ว่า คน ๆ นั้นเป็นคนที่คุณตามหาหรือเปล่า เป็นตัวจริงมั้ย และที่สำคัญ เค้ากำลังทำหน้าที่ตามบทบาทที่ควรจะเป็นมากน้อยแค่ไหน

1. โค้ช – Coach ให้คำถาม
เราคงคุ้นเคยกันอยู่แล้วกับการเรียกผู้ฝึกสอนนักกีฬาว่าโค้ช และช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินหลายคนพูดถึง Life Coach

การโค้ช คือการให้คำแนะนำโดยอาศัยกระบวนการเฉพาะ และงานของโค้ช คือการตั้งคำถาม และเป็นการถามให้คิด ช่วยให้ผู้ถูกโค้ช (Coachee) มองเห็นสิ่งที่ตัวเองมองไม่เห็น โดยใช้ศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์ในทางจิตวิทยาร่วมกัน เช่น การรับฟัง การตั้งคำถาม การจับใจความ โดยคำตอบที่ผู้ถูกโค้ชคาดหวังจะได้ค้นพบจากการตอบตัวเองก็คือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยงานของโค้ชจะไม่ใช่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ แต่จะเป็นการช่วยให้เราได้คิดหาสาเหตุและหาทางไปต่อให้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำอะไรก็จะยังคงอยู่ที่ผู้ถูกโค้ชเป็นหลัก

เวลาที่เราเป็นผู้ถูกโค้ช แล้วเราไปถามโค้ชเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เราควรจะคาดหวังไม่ใช่คำตอบตรงๆเสียทีเดียว แต่ควรจะต้องเป็น “คำถามปลายเปิด” ย้อนกลับมา เช่น
“คุณรู้สึกว่าทางเลือก A หรือ B เหมาะสมกว่ากัน ?”
“คุณคิดว่าเมื่อเลือกทางเลือก A ไปแล้ว ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ?”
แต่จะต้องพึงสังเกตเสมอ ว่าโค้ชจะต้องไม่ถามคำถามที่มีลักษณะชี้นำ เช่น
“ตัวเลือก B มันดีไม่ใช่เหรอ ?”

พอเราได้ฟังคำถาม เราเองนั่นแหละที่จะต้องมาค้นหาใจตัวเอง บ่อยครั้งเรามีคำตอบในใจ แต่เรายังลังเล ตรงนี้คือส่วนที่โค้ชจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น
ทุกวันนี้ ธุรกิจชั้นนำทั่วโลก หรือยักษ์ใหญ่ในไทยก็มีโค้ชที่ผ่านการรับรองอยู่ในองค์กร นั่นเพราะเวลาทำงานหรือตัดสินใจทำอะไร หลายครั้งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน โค้ชจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การตัดสินใจในการทำงานและธุรกิจง่ายดายยิ่งขึ้น โดยจุดเด่นของการโค้ชที่เราจะเห็นได้ คือ
– โค้ชควรจะรับฟัง งานแรกที่เขาจะต้องทำก็คือการรับฟัง ไม่ขัดจังหวะผู้พูด และจะพูดเมื่อจำเป็นเท่านั้น
– โค้ชไม่ควรจะตัดสินหรือฟันธงการตัดสินใจสิ่งใดกับผู้ถูกโค้ช ดังนั้นถ้ามาแนว “คุณกระจอกเองหรือเปล่า” หรือ “ก็คุณไม่พยายาม” หรือ “เชื่อผม ผมเคยผ่านมันมาแล้ว” ตรงนี้ Factsheets ไม่ขอบอกว่าดีหรือไม่ดี แต่การตัดสินใครแบบนี้ไม่ใช่รูปแบบการทำงานแบบโค้ชอาชีพ

เวลาที่จะจ้างโค้ชอาชีพ อย่างหนึ่งที่พอจะดูได้ก็เช่นคุณวุฒิด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษา หรือใบรับรองต่างๆที่น่าเชื่อถือ หรือหากไม่เสียเงินจ้าง ให้ลองวิเคราะห์ก่อน อย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะการเรียกตัวเองว่าเป็นโค้ช หลายคนไปเจอโค้ชปลอม ๆ หรือโค้ชที่ทำงานเกินเลยหน้าที่โค้ช แล้วก็ไม่ได้มีความสามารถในรูปแบบหน้าที่อื่น ๆ ด้านล่าง ก็อาจทำให้ชีวิตและธุรกิจของคุณพังลงได้ง่าย ๆ

2. ที่ปรึกษา – Advisor ให้คำตอบ
สำหรับ Advisor ความหมายจะค่อนข้างตรงกับคำแปลภาษาไทย ซึ่งที่ปรึกษาก็มีไว้ให้ปรึกษา โดยคุณสมบัติของที่ปรึกษานั่นคือการที่จะต้องเป็นผู้มีความรู้เชิงลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราอยากรู้ หรือมีประสบการณ์เดียวกันกับปัญหาที่เราเผชิญอยู่

ถ้าเรามีคำถามที่ต้องการคำอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน (How to) เราต้องสวมบทผู้ขอรับคำปรึกษา (Advisee) ไปถาม Advisor โดยสิ่งที่เราจะได้กลับมาคือข้อมูลชั้นดีที่เราควรจะสามารถนำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้เลย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังเจอปัญหาการเข้างานสายของพนักงานแล้วนำไปถาม Advisor สิ่งที่คุณต้องคาดหวังจะได้เลยก็คือ “คำตอบ” เช่น วิธีการวางมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาคนมาทำงานสาย การจูงใจคนมาทำงานตรงเวลา อย่างนี้เป็นต้น เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรุปก็ว่าได้

Advisor จริงเท็จดูไม่ยาก เพราะดูกันที่ประสบการณ์ทำงาน ความถ่องแท้ของคำตอบ ที่มาของคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลเชื่อถือได้ ตัวอย่างที่เราเห็น ๆ กันก็เช่นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ (Thesis Advisor)

3. พี่เลี้ยง – Mentor ให้ประสบการณ์
จุดเด่นของ Mentor คือการเป็นผู้มีชั่วโมงบินสูง มีประสบการณ์ เคยผ่านการลงมือทำลองผิดลองถูกและประสบความสำเร็จมาแล้ว หรือไม่ก็ต้องมีองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับจนสามารถเป็นแบบอย่างในแต่ละเรื่องได้

ถ้าคุณดู Start-Up ซีรีย์เกาหลีที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ คุณพระรอง ฮันจีพยอง ก็คือ Mentor ตามคุณสมบัตินี้ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง Mentor กับ Mentee จะมีความใกล้ชิด คุยกันได้ลึกขึ้น เช่นในเรื่องการจัดการความรู้สึก หรือเรื่องวิสัยทัศน์ ซึ่งในชีวิตจริง เราอาจเป็น Mentor ของคนอื่น พร้อมกันนั้นก็มี Mentor ในแต่ละเรื่องพร้อม ๆ กันก็ได้ โดยงานของ Mentor คือการใช้ประสบการณ์ของตัวเองช่วยให้เราเห็นขั้นตอนที่ดีที่สุด (Best practice) หรือไม่ต้องทดลองทำขั้นตอนที่อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่า จากคำตอบที่ Mentor มอบให้ เพื่อให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

วิธีดู Mentor ดูที่ความรู้สึกเราเป็นสำคัญ เรารู้สึกเชื่อมั่น ประกอบกับเค้าเป็นตัวจริง มีผลงานชัดเจน ก็ถือว่าใช้ได้

4. ที่ปรึกษา – Consultant ให้ผลลัพธ์
Consultant ซึ่งภาษาไทยก็ชอบแปลว่าที่ปรึกษาเหมือนกัน จะมีความแตกต่างจาก Coach, Advisor, Mentor ตรงที่ทั้ง 3 บทบาทแรกจะเป็นผู้ถาม ผู้ตอบ ผู้แบ่งปัน แต่ Consultant จะช่วยคุณลงแรงได้ด้วย (ซึ่งปกติคุณก็ต้องลงเงินไปให้ Consultant เป็นการตอบแทน)

Consultant จะเป็นคนหรือธุรกิจก็ได้ จุดเด่นของบทบาทนี้นอกจากความรู้กับประสบการณ์ คือการมีทรัพยากร เราถือปัญหาไป นอกจาก Consultant จะช่วยคิด เขายังสามารถช่วยทำได้ด้วย รวมถึง Consultant อาจจะมีลู่ทางทำสิ่งที่เราทำไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ เช่น การมีคอนเนคชั่นที่เราไม่มี การมีคนเก่งที่เราจ้างมาไว้ประจำในธุรกิจของเราไม่ไหว

ตามธรรมชาติ Consultant จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับวิธีคิดหรือจะเข้ามาช่วยเราเปลี่ยน Mindset อะไร แต่จะเน้นทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการ ส่วนใหญ่ Consultant ที่เราเห็นมักจะรับผิดชอบงานในระดับโครงการ โดยจะรับผิดชอบทำงานตามขอบเขตที่ได้รับให้เสร็จสิ้น แล้วถ้ามีโครงการอื่น ๆ ก็มาว่าจ้างกันใหม่

ถ้าจะถามว่า ดู Consultant ยังไง ต้องบอกเลยว่าละเอียด เพราะ Consultant แต่ละคนหรือแต่ละแห่งจะมีความชำนาญไม่เหมือนกัน ดังนั้นให้ดูประสบการณ์การทำงาน และดูผลงานที่เกี่ยวข้องยิ่งมาก ยิ่งละเอียด ยิ่งน่าเชื่อถือ ก็จะยิ่งดี

ตัวอย่าง
สมมติว่า แอดมินกำลังทำธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจของแอดมินกำลังไปได้สวย เลยอยากจะขยายบริการ โดยการมีแอพมือถือเพื่อเปิดให้บริการ Delivery ต่อไปนี้คือสิ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น เมื่อแอดมินไปคุยกับคน 4 กลุ่มข้างต้น…
1. คุยกับ Coach แอดมินอาจได้คำถามกลับมาว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไรกับการมีแอพ ?
2. ถาม Advisor ก็อาจได้ฟังคำอธิบาย “How to develop a mobile application” ชุดใหญ่ มา 1 ชุด
3. บอก Mentor ก็อาจได้ฟังเรื่องราว ขึ้นต้นว่า “ตอนนั้นที่พี่ทำแอพของธุรกิจพี่เองนะ พี่เริ่มคิดจาก…”
4. อธิบาย Consultant อาจได้ Proposal มาหนึ่งฉบับ พร้อมใบเสนอราคา

ในฐานะที่ Factsheets เรามีทีมอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นวิทยากรและที่ปรึกษา ทั้งด้านการศึกษา พัฒนาคน ธุรกิจ เทคโนโลยี มาหลายปี เรามองว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะเวลาเราต้องการให้ใครซักคนเข้ามาช่วยเหลือเรา ไม่ว่าจะเรื่องชีวิต เรื่องงาน เรื่องธุรกิจ คนแต่ละคนมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งถึงแม้คน 1 คน อาจจะเป็นได้หลายบทบาท เช่น Life Coach ที่เป็น Business Advisor ด้วย หรือ Consultant ก็อาจจะกำลังช่วยเหลือฟูมฟัก Mentee อยู่ด้วย ก็ตาม ก็ต้องระมัดระวังที่จะไม่นำงานหลายหน้าที่มาทำพร้อม ๆ กัน เพื่อลดโอกาสที่อาจเกิด bias ในการตัดสินใจของผู้ขอความช่วยเหลือ และอาจเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกิดขึ้นได้

แต่ถ้าเกิดเราเห็นใครซักคนเรียกตัวเองว่า Coach แต่สิ่งที่เค้าทำคือการเป็น Consultant ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดมากมายอะไร เพราะบางทีก็อาจจะเกิดจากทั้ง Personal Brand ที่เค้าสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการจดจำ หรือแม้กระทั่งเป็นคำที่คนอื่นใช้เรียกเค้าจนเป็นที่จดจำมาก่อนอยู่แล้ว แต่ให้ดูจากสิ่งที่เค้าทำมากกว่า ว่าเค้าทำหน้าที่อะไรกันแน่ และเค้ามีคุณสมบัติมั้ย ทำได้ดีหรือเปล่า เราควรจะดูตรงนั้นเป็นหลัก

ดังนั้น เราจะขอความช่วยเหลือใคร นอกจากต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าจริง ๆ แล้วเราอยู่ตรงไหน เราก็ต้องเข้าใจบทบาทต่าง ๆ ด้วย ว่าเราจะควรจะหาใครมาช่วยเราดี เพื่อให้ชีวิตการงาน การเงิน และการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ราบรื่น

ที่มา
https://www.assuredstrategy.com/what-is-the-difference-between-a-coach-consultant-advisor-or-mentor/
https://mcgrawhillprofessionalbusinessblog.com/2019/06/13/the-differences-between-a-mentor-advisor-and-a-coach-and-how-to-land-them/
https://consulterce.com/difference-consulting-coaching-mentoring/