fbpx

รู้จักที่มาที่ไปของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) – Factsheet No.25

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นเครื่องมือหารายได้ของรัฐรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

วันนี้ Factsheets จะพามารู้จักความหมายของคำว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม กันอย่างถ่องแท้ ว่ามูลค่าที่เพิ่มมาต้องเสียภาษีแบบไหน จุดเริ่มต้นของภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ใครมีหน้าที่เสียภาษีบ้าง แล้วในประเทศอื่น ๆ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มกันอย่างไร

ที่มาของคำว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำว่ามูลค่าเพิ่ม เกิดจากหลักการในทางเศรษฐศาสตร์ว่า เมื่อมีการนำวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการผลิต “มูลค่า” ของผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมานั้นย่อมจะ “เพิ่ม” มากขึ้น และรัฐสามารถเรียกเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมานี้ได้

อธิบายง่าย ๆ เช่น หากเราทำธุรกิจโดยการซื้อสับปะรดมา แล้วทำการแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง สับปะรดกระป๋องนั้นก็ย่อมมีมูลค่ามากกว่าสับปะรดสด ๆ และแน่นอนว่าเราจะได้กำไรจากส่วนต่าง “มูลค่า” ที่ “เพิ่ม” ขึ้น VAT จึงถูกคิดในสัดส่วนที่รัฐกำหนดจากราคาที่เราขาดสับปะรดกระป๋องนั่นเอง

และหากมีการนำสับปะรดกระป๋องไปเพิ่มมูลค่าเพื่อจำหน่ายอีกที เช่นทำเป็นอาหาร ก็จะต้องเสีย VAT เพิ่มอีกทีในส่วนต่างที่เกิดขึ้น เรียกกันง่าย ๆ ติดปากว่า “ภาษีขาย – ภาษีซื้อ” โดยผู้ประกอบการจะนำยอดภาษีขายมาหักออกจากภาษีซื้อ แล้วค่อยนำส่ง VAT กลับกัน หากมีภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อ ก็จะสามารถเลือกขอคืน หรือยกยอดไปใช้ในเดือนต่อ ๆ ไป เพื่อให้เสีย VAT น้อยลงก็ได้

ภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
ก่อนที่ประเทศไทยจะจัดเก็บ VAT ผู้ประกอบการเคยต้องเสียภาษีชนิดหนึ่งมาก่อน เรียกว่า ภาษีการค้า โดยนำ VAT มาใช้แทน ซึ่งจะมีอัตราเดียวกัน โดยสินค้าใดก็ตามที่มีเหตุผลในการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม รัฐก็จะกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจาก VAT ด้วย

ประเทศไทยเริ่มจัดเก็บ VAT ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดอัตราการจัดเก็บ VAT ไว้ที่ 10% ตั้งแต่ปี 2540 แต่คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี

กิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
1. ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในประเทศไทย
2. การให้บริการในประเทศไทย ไม่ว่าผู้ประกอบการจะอยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ต่างประเทศ หรือบริการที่ทำในประเทศไทย แต่มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ต่างประเทศ
3. การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า

โดย VAT ในประเทศไทย มีข้อยกเว้นหลัก ๆ อยู่ 2 ข้อด้วยกัน
– ข้อแรก กรณีที่ยอดขายหรือรายรับทั้งปีไม่เกิน 1,800,000 ถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม ยังไม่ถูกบังคับให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แต่จะจดทะเบียนโดยสมัครใจก็ได้)
– ข้อสอง เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้น เช่น การขายพืชผลทางการเกษตร (ที่ไม่ได้แปรรูป) การขายสัตว์ การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน โดยสามารถค้นหากิจการที่ได้รับการยกเว้นได้จากประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ก) หรือ เว็บไซต์ https://www.rd.go.th/5206.html

ในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการอาจจะทำการผลักภาระในส่วนนี้ไปที่ผู้บริโภค ด้วยวิธีการรวม (Include) หรือไม่รวม (Exclude) ภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในราคาของสินค้าหรือบริการ โดยจะทำตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งราคาสินค้า หากสังเกตใบเสร็จรับเงินที่เป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อ ก็จะพบว่ามีการระบุไว้เสมอว่ามีการรวม VAT ไว้ในสินค้าหรือบริการนั้น ๆ แล้วหรือยัง หรือในบางกรณีที่พบบ่อยก็เช่นร้านอาหารบุฟเฟต์จำนวนมากที่ระบุข้อความไว้ใกล้ ๆ กับป้ายราคา ว่า ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อรับประทานและชำระเงิน ก็จะมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เพิ่มขึ้นมาในใบแจ้งราคานั่นเอง

ภาษีมูลค่าเพิ่มในต่างประเทศ
ในหลาย ๆ ประเทศจะพบว่ามีการเรียกภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าหรือบริการว่า ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ซึ่งก็คือภาษีในลักษณะเดียวกัน โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บ VAT หรือ GST ในอัตราสูงที่สุด (มีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทชองสินค้าและบริการ) คือตั้งแต่ 0 – 28% โดยกิจการที่ถูกจัดเก็บ 28% ได้แก่ น้ำอัดลม รถยนต์หรู ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
อันดับ 2 รองลงมาคือฮังการี จัดเก็บมากสุดที่ 27% เป็นอัตรามาตรฐาน และลดหลั่นลงมาในบางธุรกิจ เช่น ร้านอาหารอยู่ที่ 18% หรือ ยารักษาโรคและอาหารบางประเภทอยู่ที่ 5%

สำหรับสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนเข้าใจว่าไม่มีการจัดเก็บภาษี VAT หรือ GST แต่มีการจัดเก็บภาษีการขาย (Sales tax) โดยในแต่ละรัฐมีลำดับขั้นการจัดเก็บไม่เท่ากัน โดยรัฐที่มีการจัดเก็บมากที่สุดคือรัฐอาร์คันซอ สูงสุดอยู่ที่ 11.625%

ที่มา
https://www.rd.go.th/
http://www.sale-tax.com/
https://wise.com/gb/vat/india
https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/global/Documents/Tax/dttl-tax-hungaryguide-2015.pdf