fbpx

1 ก.ย. นี้ สรรพากรเริ่มเก็บ VAT e-Service – Factsheet No.52

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

ดีเดย์ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป รัฐบาลไทยโดยกรมสรรพากรจะเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)

ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๓) พ.ศ.๒๕๖๔ ซึ่งโดยหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ

“โดยที่ปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

วันนี้ Factsheets ขออาสามาสรุปให้ ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว จะมีผลอย่างไรกับผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไปดูกันเลย

ให้ใช้อิเล็กทรอนิกส์กับกรมสรรพากรได้
ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓ โสฬส บรรดาหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบ ใบกำกับภาษี รายงาน เอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่กรมสรรพากรต้องใช้ในการติดต่อกับผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใด หรือที่ผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำ การส่ง การรับ ตลอดจนการเก็บรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”

จึงหมายความได้ว่า กรมสรรพากรกับผู้เสียภาษีอากรสามารถใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หนังสือแจ้งให้เสียภาษี ใบกำกับภาษี รายงาน เอกสารหลักฐาน ได้ เนื่องจากกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในต่างประเทศ หากจำเป็นจะต้องใช้เอกสารตัวจริง ความสะดวกและโอกาสที่จะจัดเก็บภาษีนั้นถือได้ว่าน้อยมาก ดังนั้นหากใช้กระบวนการอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนนี้ ก็มีโอกาสที่จะจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นิยาม e-Service และ e-Platform
มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ให้คำจำกัดความว่า “ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด” ไม่ใช่สินค้า ซึ่งมาตรา 5 ก็ได้ให้คำจำกัดความใหม่ว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และ ให้คำจำกัดความถึงตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใด ที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ ว่าเป็น “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม”

จะเห็นว่า บริการต่าง ๆ เช่น Mobile App ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และต้องอาศัยอัลกอริทึมในการทำงาน ตาม พ.ร.บ. นี้ จัดว่าเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เรียบร้อยแล้ว เช่น E-Commerce ของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือดิจิทัลคอนเทนท์ต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็น e-Service เช่นกัน ทั้งหนัง เพลง เกม

แต่หากมีผู้ให้บริการหลายรายร่วมกันให้บริการ ก็จะถือว่าเป็นแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Ridesharing App หรือ App ส่งอาหารต่าง ๆ หรือ E-Commerce Platform ที่มีผู้ค้าหลายรายอยู่ร่วมกันนั่นเอง

ผลที่จะเกิดขึ้น
พ.ร.บ. นี้ ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการe-Service และ ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ให้บริการกับลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยเริ่มในปีภาษีถัดไป คือ 1 กันยายน

ถัดจากนี้คงต้องรอดูว่า บริการออนไลน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, YouTube หรือ NetFlix และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ให้บริการมาก่อนหน้านี้จะมีการตอบสนองต่อกฎหมายฉบับนี้ต่อไปอย่างไร

ที่มา
https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/p53.pdf
https://rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/newspr/2021/02/47877-25640211.pdf