Exit Strategy หรือกลยุทธ์การถอนตัวออกจากธุรกิจ เป็นแผนที่ถูกคิดไว้โดยนักลงทุนหรือเจ้าของธุรกิจ สำหรับสถานการณ์บางอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคต ถึงตรงนี้คุณอาจสงสัยว่า ในเมื่อเราลงทุน ลงแรง กับธุรกิจไปแล้ว ทำไมเราต้องมีแผนที่จะโบกมือลาจากธุรกิจของเราเองด้วย วันนี้ Factsheets จะขยายความให้ฟัง แล้ว Exit Strategy มีอะไรบ้าง
อย่างที่บอกว่า Exit Strategy มีไว้รองรับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าธุรกิจนั้น ๆ จะอยู่ในช่วงทำกำไรหรือเปล่า ก็อาจมีเหตุให้นักลงทุนหรือเจ้าของธุรกิจปล่อยมือออกจากธุรกิจได้ในหลายแนวทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งผู้ก่อตั้งที่ลงแรงลงทุนมาตั้งแต่แรกอาจจะรู้สึกว่ามาถึงจุดอิ่มตัวกับธุรกิจหนึ่ง ๆ แล้วกำลังต้องการเวลาเพื่อไปหาความท้าทายใหม่ ๆ การ Exit ก็อาจจะเป็นหนทางที่เกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่การที่บริษัทซึ่งมีผู้ถือหุ้นจำกัดอยู่เฉพาะในผู้ก่อตั้ง อาจจะต้องการขยายกิจการโดยเติบโตไปสู่การเพิ่มทุนด้วยวิธีต่าง ๆ ก็อาจเสนอขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุน และทำให้ผู้ก่อตั้งมีสัดส่วนหุ้นที่น้อยลงก็นับเป็นการ Exit ในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการ Exit ที่มีแผนการรองรับไว้อยู่แล้ว
แต่ในบางเหตุการณ์ เจ้าของ ผู้ก่อตั้ง หรือนักลงทุนอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง Exit แบบที่ไม่ได้วางแผนไว้ก็ได้เช่นกัน เช่น ต้อง Exit ด้วยการขายหุ้นหรือขายกิจการไปยังนักลงทุนหรือธุรกิจอื่นที่สามารถพาธุรกิจไปต่อ หรือธุรกิจนั้น ๆ จะได้รับผลดีจากการเข้าซื้อ แล้วเจ้าของ ผู้ก่อตั้ง หรือนักลงทุนก่อนหน้าก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดความล้มเหลวทางการเงินก็ได้
ดังนั้นการปล่อยมือจากธุรกิจที่เรียกว่า Exit จึงเป็นเรื่องกลาง ๆ ธรรมดา ที่ไม่ได้มีความหมายทางใดทางหนึ่งชัดเจนแต่อย่างใด และเราก็จะมารู้จัก Exit Strategy หลัก ๆ กัน
1. การเสนอขายหุ้นใหม่แก่บุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering : IPO)
เหตุผลหลัก ๆ ในการ IPO ก็คือการเพิ่มช่องทางการระดมทุนของบริษัท โดยจะแปรสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยจะมีส่วนสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัท และเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ถือหุ้นไปโดยปริยาย หรือในบางกรณีที่เป็นธุรกิจครอบครัว ก็สามารถสร้างความมั่นคงในระยะยาวได้จากการมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาสร้างการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจ โดยการ IPO บริษัทก็จะมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น เช่นต้องมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล การมีกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ เป็นต้น
แน่นอนว่าเมื่อมีการขายหุ้น ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับเงินผลตอบแทนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้จากการปันผลปกติของบริษัท แลกกับสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง การ IPO ก็จึงเป็น Exit Strategy รูปแบบหนึ่งที่เห็นได้โดยทั่วไป
2. การควบรวมกิจการ หรือการขายกิจการ (Merger and Acquisition)
ในการทำธุรกิจ อาจจะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความใกล้เคียงกับบริษัทของเรา หรืออาจเป็นธุรกิจที่มีความแตกต่างกับธุรกิจเราไปเลยก็ได้ ที่สนใจจะซื้อกิจการของเรา โดยการควบรวม (Merger) หมายถึงบริษัท 2 แห่ง ควบรวมเข้าเป็นบริษัทเดียว กรณีตัวอย่างก็ได้แก่ ธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต หรือ ซีพีกับ เทสโก้ โลตัส
ส่วนการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) คือการที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้ออีกบริษัทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือสินทรัพย์ ตัวอย่างเช่น Facebook เข้าซื้อ Snaptu, Instagram, WhatsApp, Oculus VR ซึ่งการซื้อแต่ละครั้งก็จะได้รับสิ่งต่าง ๆ กลับไป ไม่ว่าจะเป็นคนเก่ง โดยอาจจะยังให้ธุรกิจที่ถูกซื้อดำเนินกิจการเช่นเดิมแต่มีความเกี่ยวโยงกับ Facebook มากขึ้น หรือเป็นการรวมธุรกิจบางแห่งเข้ากับทีมงานของ Facebook ก็มี
โดยสิ่งที่นักลงทุนจะได้รับก็คือผลตอบแทนจากมูลค่าหุ้นและสัดส่วนของมูลค่าสินทรัพย์ตามมูลค่าหุ้นที่ขายออกไป
ทั้งการควบรวมกิจการหรือการเข้าซื้อกิจการ ถูกเรียกรวม ๆ กันด้วยคำย่อว่า M&A
3. การเสนอขายหุ้นให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP)
ก็เป็นอีกวิธีในการระดมทุนหรือ Exit โดบการเสนอขายหุ้นในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กลต. และผู้ถือหุ้นเดิมก็ยังสามารถซื้อหุ้นในการระดมทุนรอบนี้ได้ด้วย ความยุ่งยากก็จะมีน้อยกว่า IPO โดยหากใช้ PP เพื่อ Exit ก็อาจเป็นได้ว่าผู้ถือหุ้นใหม่จะมีสัดส่วนการถือครองมากกว่าผู้ถือหุ้นเดิม (dilution effect)
ในประเทศไทย วิธีนี้ กลต. ระบุว่าได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องยื่นคำขอและไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) แต่กรณีบริษัทเสนอขายหุ้นออกใหม่แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วนความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมที่ลดลงอาจทำให้สิทธิต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเสนอขายหุ้นเพิ่มทันในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ต้องเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น และให้ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นรวมกันเกิน 10% ขึ้นไปสามารถคัดค้านการ PP เพื่อรักษาสิทธิในการออกเสียงของบริษัทได้
4. สร้างธุรกิจให้เป็นแม่โค น้ำนมใหลเป็นเงิน (Cash Cow)
Cash Cow อาจจะนับว่าเป็นสถานะอย่างหนึ่งของธุรกิจที่อาจจะครอบครองส่วนแบ่งในตลาดใดตลาดหนึ่งในฐานะผู้นำ จนถึงจุดที่มีอัตราการเติบโตเริ่มลดลง แต่ก็สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน กรณีแบบนี้เจ้าของสามารถปล่อยมือจากธุรกิจเพื่อให้ผู้ที่เจ้าของไว้ใจและมีความสามารถเข้ามาบริหารแทน โดยอาจจะเป็นการจ้าง CEO และเจ้าของก็จะได้เวลาในการตามหาความสำเร็จต่อ ๆ ไป โดยที่ยังคงความเป็นเจ้าของตามสัดส่วนไว้ได้เหมือนเดิม
ตัวอย่างของธุรกิจที่ถูกนับว่าเป็น Cash cow ได้แก่ โคคา-โคล่า ยูทูบ ไอโฟน
5. ชำระบัญชี เลิกกิจการ (Liquidation)
เป็นการปิดกิจการและขายทรัพย์สินทั้งหมด จากนั้นนำเงินมาชำระหนี้ และแบ่งส่วนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจเกิดจากทั้งกรณีที่ธุรกิจไปต่อไม่ได้ ไม่มีตลาดรองรับแล้ว หรือเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้วยระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป หรือในกรณีที่ผู้ถือหุ้นตกลงร่วมกันโดยสมัครใจด้วยเหตุผลต่าง ๆ (มีญาติผู้ใหญ่ที่แอดมินรู้จักเคยลงทุนทำโรงงานอุตสาหกรรม ก็เคยตัดสินใจ Exit ด้วยวิธีนี้ เนื่องจากอายุที่มาก และการไม่มีผู้สืบทอด ซึ่งก็สามารถขายที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร เพื่อนำเงินกลับออกมาแบ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นอยู่เหมือนกัน) ซึ่งมีข้อดีเพราะนับว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด มีการเจรจาเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้ถือหุ้นด้วยกัน และไม่ต้องถ่ายโอนความควบคุมใด ๆ แต่ก็มีข้อเสีย เช่น ชื่อเสียงทางธุรกิจของผู้ถือหุ้นอาจได้รับผลกระทบ หรือด้วยเวลาที่จำกัดอาจทำให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ต้องถูกขายไปในราคาที่ถูกกว่าปกติ
สรุป
ทั้ง 5 ข้อที่ยกมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Exit Strategy ซึ่งก็ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ ตามแต่สถานการณ์ เช่น อาจนำเงินของธุรกิจไปลงทุนทำสิ่งอื่น โดยเลิกกิจการเดิมที่เคยทำก็ได้ แล้วแต่การวางแผนร่วมกันระหว่างนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ซึ่งการคิดล่วงหน้าถึงโอกาสที่จะ Exit ถือว่าเป็นการจัดการความเสี่ยงและค้นหาโอกาสในการเติบโตไปสู่ธุรกิจใหม่ไปในตัวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ทั้งผู้ประกอบการหรือนักลงทุนควรจะต้องรู้ไว้