ปัจจุบันจะเห็นว่าอินโฟกราฟิกเป็นรูปแบบสื่อที่ได้รับความนิยมจากนักสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิชาการ หรือในด้านธุรกิจ ทุก ๆ สื่อโซเชียลก็ต่างนำอินโฟกราฟิกมาใช้เพื่อสื่อสารข้อมูลที่มีความซับซ้อน
แต่รู้หรือไม่ว่า อินโฟกราฟิกมีจุดกำเนิดมาพร้อม ๆ กับวิชาการพยาบาลสมัยใหม่ ที่บุกเบิกโดย ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลชาวอังกฤษ ซึ่งถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป (Lady of the Lamp)”
อินโฟกราฟิก (Infographic) เป็นการผสมกันของคำสองคำ คือ Information – สารสนเทศ ก็คือข้อมูลที่ถูกนำมาประมวลผลให้มีความพร้อมที่จะนำไปใช้งาน กับอีกคำหนึ่ง คือคำว่า Graphic แปลเป็นภาษาไทยว่า ภาพพิมพ์ นั่นคือภาพที่เกิดจากการประกอบกันของจุด เส้น รูปทรงเรขาคณิต เพื่อใช้ในการสื่อสาร ดังนั้น Infographic ก็คือ ภาพกราฟิกที่ใช้ในการสื่อสารสารสนเทศ (ข้อมูล) นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของอินโฟกราฟิกมีอยู่ว่า ไนติงเกล ทำหน้าที่พยาบาลในระหว่างสงครามไครเมีย โดยเธอและนางพยาบาลที่เป็นลูกศิษย์ของเธอทำหน้าที่รักษาพยาบาลให้กับทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ โดยระหว่างการทำงาน เธอก็ได้ทำการเก็บข้อมูล พบว่า มีจำนวนทหารที่เสียชีวิตเพราะสุขอนามัยในค่ายทหารที่เลวร้าย มากกว่าเสียชีวิตจากการกระทำของข้าศึก มากถึง 10 เท่า เธอจึงนำข้อมูลที่เธอรวบรวมมาทำเป็นรูปภาพ ชื่อว่า แผนภาพแสดงอัตราการเสียชีวิตในกองทัพบก แนวรบตะวันออก (Diagram of the causes of mortality in the army in the east)
โดยแผนภูมิวงกลมชุดนี้ของเธอ สามารถโน้มน้าวสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย พระมหากษัตริย์อังกฤษในสมัยนั้นให้ส่งเสริมแผนการพัฒนาการรักษาพยาบาลและสุขอนามัย จนแนวคิดของเธอกลายเป็นรากฐานของวิชาพยาบาลศาสตร์ในปัจจุบัน โดยแผนภาพนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นอินโฟกราฟิกที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาล
ทุกวันนี้ อินโฟกราฟิกก็ยังคงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความเข้าใจได้เร็ว ดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย กระชับ และยังคงมีให้เห็นในการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ทุกอุตสาหกรรมอยู่เสมอ