fbpx

สรุปจุดยืน 10 ชาติอาเซียน ที่มีต่อบิทคอยน์และสกุลเงินคริปโต – Factsheet No.12

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีธนาคารกลางของชาติใดในโลกรับรองว่าสกุลเงินคริปโตเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่สถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการด้านการเงินจำนวนมากก็ถือว่าสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่สามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ได้ โดยในแต่ละประเทศต่างก็มีมาตรการในการกำกับดูแลที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสกุลเงินบิทคอยน์ ที่ได้รับความนิยมมาก่อนใครและเป็นที่รู้จักมายาวนานมากที่สุด

วันนี้เราจะมาดูกันว่า ประเทศไทย และประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในกลุ่มอาเซียน มีมาตรการในการกำกับดูแลสกุลเงินบิทคอยน์ และเงินคริปโตอย่างไรบ้าง

ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
ประเทศไทยมีการตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 โดยในประเทศไทย สามารถทำการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตเป็นสกุลเงินบาทได้เท่านั้น โดยต้องรายงานกิจกรรมน่าสงสัยต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ในระหว่างกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในสกุลเงินคริปโต และการทดสอบความรู้ก่อการลงทุน การเปิดบัญชี ซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ DLT ใน Corda Platform) กำลังพัฒนาระบบการชำระเงินต้นแบบระดับสถาบันการเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออก มีชื่อว่า โครงการอินทนนท์ โดยปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 คือการแปลงพันธบัตรให้อยู่ในรูป Token และใช้ประโยชน์จากสัญญาอัจริยะ (Smart Contract) เป็นต้น

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
ไม่มีกฎหมายห้ามการถือครองและแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต แต่ตามแถลงการณ์ของธนาคารกลางอินโดนีเซีย ลงวันที่ 13 มกราคม 2561 ได้ระบุเตือนว่าสกุลเงินคริปโตเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ห้ามไม่ให้ใช้สกุลเงินคริปโตในการชำระหนี้ตามกฎหมาย หรือใช้จ่ายแทนเงิน

สหพันธรัฐมาเลเซีย (Malaysia)
ธนาคารกลางมาเลเซีย หรือ Bank Negara Malaysia (BNM) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 ว่าบิทคอยน์ไม่ได้เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของมาเลเซีย และธนาคารกลางก็จะไม่มีการออกกฎระเบียบหรือมีมาตรการในการกำกับดูแลใด ๆ ทั้งสิ้น และได้ระบุเตือนถึงความเสี่ยงในการใช้บิทคอยน์

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ หรือ Bangko Sentral ng Pilipinas (BSP) ออกแถลงการณ์รับรองว่าสกุลเงินคริปโตเป็นสกุลเงินเสมือนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการรับรองให้มีศักดิ์เทียบเท่ากับเป็นสกุลเงินจริง เนื่องจากไม่ได้มีหลักประกันอ้างอิงใด ๆ

สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore)
ในเดือนธันวาคม 2556 Monetary Authority of Singapore ซึ่งเป็นธนาคารกลางของสิงคโปร์แถลงว่า การตัดสินใจรับหรือไม่รับสกุลเงินบิทคอยน์ถือเป็นการตัดสินใจของธุรกิจแต่ละแห่ง โดยธนาคารกลางจะไม่เข้าไปแทรกแซง และต่อมาในเดือนมกราคม 2557 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการทางภาษี ซึ่งให้ถือว่าธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ หากเป็นการแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ก็จะต้องถูกหักภาษีตามกฎหมายด้วย และล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2562 กฎหมายว่าด้วยบริการชำระเงินของสิงคโปร์ได้ระบุให้บิทคอยน์เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อใช้ในการชำระเงินตามกฎหมาย

บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)
Brunei Monetary Authority ซึ่งเป็นธนาคารกลางของบรูไนระบุว่าบิทคอยน์และสกุลเงินคริปโตไม่ได้เป็นเงินที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากธนาคารกลาง แต่ไม่ได้ห้ามการถือครองหรือแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตใด ๆ เป็นการเฉพาะ

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The Socialist Republic of Vietnam)
ธนาคารกลางเวียดนามระบุว่าการออก จัดหา และใช้บิทคอยน์หรือสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ เพื่อชำระหนี้ ค่าบริการ หรือซื้อสินค้า ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และจะได้รับโทษปรับระหว่าง 150 – 200 ล้านดอง แต่รัฐบาลไม่ได้ห้ามการถือครอง เทรด และแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างใด
โดยสกุลเงินของเวียดนามคือ ดอง (VND) 1 ดองเมื่อเทียบเป็นเงินบาทไทยจะเท่ากับ 0.0013 บาท (วันที่ 17 มีนาคม เวลา 19.52 น. UTC)

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic)
ธนาคารกลาง สปป.ลาว ได้ประกาศห้ามไม่ให้สถาบันการเงินครอบครองมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการทำธุรกรรม ห้ามเสนอบริการเทรด ห้ามสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขาย ห้ามทำหน้าที่เป็นนายหน้าในการทำธุรกรรม ห้ามสถาบันการเงินส่งเสริมหรือให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนหรือการเทรดสกุลเงินคริปโต โดยแหล่งข่าวระบุว่าเหตุผลในการการแบนสกุลเงินคริปโตของธนาคารกลางคือ ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่จะปกป้องผู้ใช้หรือลูกค้าที่ทำธุรกรรม และมีความเสี่ยงของการใช้สกุลเงินคริปโตในการฟอกเงิน

สหภาพเมียนมา (Union of Myanmar)
ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (Central Bank of Myanmar : CBM) ประกาศว่าไม่ยอมรับสกุลเงินคริปโตเป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย สถาบันการเงินไม่ได้รับอนุญาตให้รับหรืออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมโดยใช้สกุลเงินคริปโต โดยธนาคารกลางแห่งเมียนมาระบุว่า ผู้ใดที่ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว อาจได้รับโทษปรับหรือจำคุกหากถูกตรวจพบ
อย่างไรก็ดี นาย U Nyein Chan Soe Win ซีอีโอของ Get Myanmar แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในเมียนมา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้มีกฎหมายใดของเมียนมาที่ห้ามการเทรดสกุลเงินดิจิทัล จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)
ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia : NBC) ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทญี่ปุ่น Soramitsu ในการพัฒนาโครงการบล็อคเชนในประเทศ ซึ่งก็คือ Central Bank Digital Currency (CBDC) เป็นระบบชำระเงินซึ่งมีฐานการพัฒนามาจาก Hyperledger เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) แต่ก็ได้แจ้งให้ธนาคารในกัมพูชาไม่อนุญาตให้ประชาชนทำธุรกรรมกับสกุลเงินดิจิทัล โดยปัจจุบันกัมพูชาไม่ได้มีกฎหมายใดห้ามการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตแต่อย่างใด

ที่มา
https://www.loc.gov/law/help/cryptocurrency/cryptocurrency-world-survey.pdf
https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Don.php
https://www.mmtimes.com/news/central-bank-issues-warning-against-cryptocurrency-trading.html