fbpx

9 สิ่งที่ไม่ควรใส่ในเรซูเม่ – Factsheet No.33

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

วันนี้ Factsheets จะมาเล่าถึง 9 สิ่งที่ไม่ควรใส่ไว้ในเรซูเม่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ลองอ่านเหตุผลที่เรายกมา แล้วลงมือแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่สาย ถ้าคุณคิดว่ากำลังจะสมัครงานอยู่ ขอให้ลองอ่านบทความนี้ดู เรามาเริ่มกันเลย

1. ข้อมูลโรงเรียนประถมหรือมัธยม
หากคุณเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย หรือสำเร็จการศึกษาแล้ว ข้อมูลโรงเรียนมัธยมจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นพอที่จะใส่ไว้ในเรซูเม่ เหตุผลก็เพราะโรงเรียนมัธยมไม่ได้สะท้อนถึงตัวตนและความชำนาญเฉพาะด้านเท่าไหร่นัก แต่หากการใส่ข้อมูลโรงเรียนมัธยมสามารถสะท้อนการพัฒนาตัวเองของคุณได้ หรือสามารถส่งผลดีกับการสมัครงาน ในกรณีดังกล่าวจะใส่ไว้ก็ได้

2. เกรดเฉลี่ย (และเกรดเฉลี่ยที่ไม่สวยงาม)
ถ้าองค์กรที่คุณสมัครไม่ได้กำหนดว่าจะต้องบอกเกรดเฉลี่ย (GPA) โดยเฉพาะกรณีเกรดไม่สวย ก็ไม่ต้องแสดงก็ได้ และหากเรียนจบมาระยะหนึ่งแล้ว การไม่ใส่ GPA แต่เน้นไปที่ประสบการณ์ทำงานและผลงานก็จะมีผลให้ได้รับเลือกมากกว่า

3. การพูดถึงตัวเองด้วยสำนวนคนอื่น
หลายครั้งด้วยความเขิน เราอาจเขียนถึงทักษะหรือความสามารถพิเศษของตัวเองด้วยสำนวนที่เหมือนกับคนอื่นเขียนให้ เช่น สมชายมีความเชี่ยวชาญในด้านงานช่าง ซึ่งอาจจะถูกมองว่าโอ้อวด หรือมีความไม่กล้าแสดงออกก็ได้เช่นกัน ดังนั้นหากจะแสดงให้ผู้รับสมัครเห็นความสามารถ ให้เขียนลงไปตรง ๆ เลยว่ามีความสามารถอะไรบ้าง และหากแนบหลักฐานไปด้วยได้ก็จะยิ่งดี

4. มีรูปหลายรูป
นอกจากในบางสายงานที่ต้องคัดหน้าตาหรือบุคลิกเป็นพิเศษ ตามปกติให้เลือกรูปที่ดูดีและเป็นทางการ 1 รูปเท่านั้น

5. ประสบการณ์หรือการทำงานในระยะเวลาที่สั้นเกินไป
คนเราอาจมีช่วงเวลาในชีวิตที่กำลังเลือกทางที่ใช่ ช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะทำให้เราเข้า ๆ ออก ๆ งานหลายครั้ง ซึ่งไม่ดีนักหากจะมีไว้ในเรซูเม่ เพราะอาจถูกมองว่าเรามีอดทนต่ำได้ และก็ต้องระวังไม่ให้มีช่วงเวลาว่างงานมากจนเกินไปจนไม่มีอะไรจะใส่ในเรซูเม่

6. การบอกวัตถุประสงค์ของการมาสมัครงาน
เราอาจจะคิดว่าการบอกวัตถุประสงค์ในการสมัครงานเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการมาสมัครงาน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อย่าลืมว่าในความเป็นจริง การเขียนวัตถุประสงค์อาจจะทำให้บริษัทรู้สึกว่าจะไม่สามารถตอบสนองจุดมุ่งหมายของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์ของคุณกับแนวทางของบริษัทมีแนวโน้มจะไปด้วยกันไม่ได้ยาว

ในขั้นตอนที่จะสร้างความมั่นใจในการทำงาน ควรจะเป็นการพูดคุยระหว่างสัมภาษณ์งานมากกว่า การใส่ในเรซูเม่อาจจะทำให้ตัดโอกาสตัวเองเร็วเกินไป

7. ทักษะที่โดดเด่น
ทักษะบางอย่างเป็นทักษะพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น การใช้โปรแกรม Office (แต่ถ้ามีทักษะในระดับสูง เช่นเขียน VB กับ Excel ก็ให้ระบุชัด ๆ ไปเลย) ดังนั้นให้สร้างความโดดเด่นโดยการเน้นทักษะที่ไม่ได้มีทั่ว ๆ ไปแทน

8. ข้อมูลที่อาจทำให้ถูกเลือกปฏิบัติ
หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง การใส่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็น sensitive data บางอย่างอาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา การเมือง ความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งถึงแม้บริษัทจะรับคุณเข้าทำงาน แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจส่งผลเสียกับคุณในอนาคตได้ หากเจอกับหัวหน้างานที่ไม่เป็นมืออาชีพมากพอ

9. การมีหลายหน้า
เรซูเม่ที่ดีนั้นควรจะสรุปให้จบได้ภายใน 2 หน้า และหากคุณมีประวัติที่ยาว เรซูเม่ก็ควรจะดึงเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับการสมัครงานครั้งนั้น ๆ มาเท่านั้น

ในโอกาสต่อ ๆ ไป Factsheets จะมาเล่าให้ฟังว่า Resume กับ CV ต่างกันอย่างไร และเมื่อไหร่เราควรใช้สิ่งไหน อย่าลืมกดติดตามกัน