สำหรับในหลาย ๆ ธุรกิจที่กำลังเผชิญปัญหาในวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ระลอกนี้ Factsheets ขอนำแนวทางการรีเซ็ตกลยุทธ์ทางธุรกิจจากการรายงาน Gartner บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกมาฝากกัน
ไทม์ไลน์
Gartner แบ่งกระบวนการ “รีเซ็ต” กลยุทธ์ธุรกิจออกเป็น 3 ระยะ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องกำลังการผลิต การจ้างงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระบบนิเวศทางธุรกิจ เรียกได้ว่ากระทบและส่งผลเชิงลบแบบหนักหน่วงในทุกส่วนของหลาย ๆ อุตสาหกรรม
โดย 3 ระยะ ที่ Gartner แบ่งออกมามีอะไรบ้าง และอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการจะต้องรีบทำ เราไปดูกันเลย
ระยะที่ 1 การรับมือ (Respond)
เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องรีบทำทันทีเพื่อรักษาความมั่นคงเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ต่อไป โดย Gartner ระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือสถานการณ์คือ “การห้ามเลือดให้กับธุรกิจ”
แนวทางในการห้ามเลือด เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำเป็นสิ่งแรกเพื่อรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่แล้ว นั่นคือการทำให้คนปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from home) มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การใช้มาตรการเว้นระยะห่างในการให้บริการ โดยต้องทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินงานในส่วนที่จำเป็นต่าง ๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด (Essential business functions) เช่น ธุรกิจอาหาร ก็จะยังต้องผลิตและจำหน่ายอาหารให้ได้ โดยอาจปรับรูปแบบ เช่น ให้ซื้อกลับบ้าน หรือใช้บริการเดลิเวอรี่ เพื่อให้ยังคงมีรายได้มาหล่อเลี้ยงคนทำงาน และรักษาธุรกิจให้ยังคงมีสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด หรือหากได้รับผลกระทบในระดับที่ไม่สามารถเปิดทำการได้ การพยายามลดรายจ่ายก็เป็นภาระหนักหน่วงที่ผู้ประกอบการต้องเร่งทำ ก่อนที่จะต้องปิดตัวลงอย่างถาวร
เป้าหมายของระยะรับมือ คือการรักษาธุรกิจเอาไว้ให้คงอยู่ยาวนานที่สุด เพื่อรอวันที่สถานการณ์กลับมาดีขึ้น
ระยะที่ 2 การฟื้นฟู (Recover)
หลังจากที่เลือดหยุดใหล และสามารถรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ เอาไว้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว Gartner แนะนำให้ผู้บริหารทำการจัดระเบียบธุรกิจใหม่อีกครั้ง เป็นระยะที่สำคัญปานกลาง โดยหลังจากที่ธุรกิจในส่วนต่าง ๆ เริ่มสามารถกลับมาเปิดทำการได้ ก็ให้จัดระเบียบในการจ้างงาน การจัดทำงบประมาณใหม่ และจัดการซัพพลายเชนใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างกรณีซัพพลายเชนของร้านอาหาร ก็ต้องวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบให้ประหยัดและคุ้มค่าให้มากที่สุด อาจจะหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ หรือเจรจาต่อรองให้ได้รับเงื่อนไขที่ดียิ่งขึ้น
โดยเป้าหมายของระบะฟื้นฟู คือการทำให้ธุรกิจกลับไปสู่ระดับที่สามารถเติบโตได้อีกครั้ง (Gartner ใช้คำว่า Scalable state)
ระยะที่ 3 การเริ่มใหม่ (Renew)
เป็นระยะที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการคิดกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด โดยอาศัยบทเรียนที่ผ่านมาจากทั้ง 2 ระยะ ที่จะทำให้ธุรกิจเห็นจุดอ่อนและความเสี่ยงต่าง ๆ เมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน
ในระยะนี้ สิ่งที่แนะนำก็คือการสร้างกระบวนการทำงาน (Workflow) ในองค์กรที่มีความเฉพาะตัว สามารถทำซ้ำได้ และสามารถขยับขยายได้ในอนาคต
จากภาพ จะเห็นว่าสถานการณ์ทั้ง 3 ระยะมีความทับซ้อนกันอยู่ นั่นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังห้ามเลือดให้กับธุรกิจ เราอาจจะเตรียมการวางแผนฟื้นฟูและแผนเริ่มต้นใหม่ได้เลย เพื่อให้เรามีข้อมูลและมุมมองที่เพียงพอในระยะต่อ ๆ ไปที่จะมาถึง โดยหลังจากที่ธุรกิจผ่านกระบวนการรีเซ็ต นอกจากจะทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการต่อไป ยังจะช่วยให้สามารถรับมือกับวิกฤตครั้งต่อ ๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น และสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย