fbpx

กฎ 80/20 ตัวเลขมหัศจรรย์ – Factsheet No.65

ถ้าเราสังเกตเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์หลายอย่างในโลก เราจะพบว่า 80% ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาใด ๆ ก็ตาม เกิดจากเหตุหรือความพยายามเพียง 20% เท่านั้นอย่างน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น
80% ของการจัดเก็บภาษี มาจากคนในสังคมประมาณ 20%
80% ของรายได้ในธุรกิจ เกิดจากกลุ่มลูกค้าประมาณ 20%
80% ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจาก 20% แรกของเส้นทาง
80% ของมลพิษในอากาศ เกิดจาก 20% ของประชากร
และอีกมากมายหลายความเชื่อมโยง ที่เกิดจากสัดส่วน 80:20

ผู้ที่เริ่มสังเกตปรากฎการณ์นี้และนำมาเผยแพร่ในปี 1895 เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลี ชื่อ Vilfredo Pareto ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อปรากฎการณ์นี้ ว่า หลักพาเรโต (Pareto’s Principle) ที่เราจะนำมาพูดถึงในวันนี้

————————————–
ความหมายของหลักพาเรโต
————————————–

หลักพาเรโต แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของธรรมชาติ จากการที่มักจะมีสิ่งที่สำคัญของเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม โตยธรรมชาติเพียง 20% และสิ่งที่ไม่สำคัญอีก 80% ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั้งสถานการณ์ชีวิตทั่วไป และผลการสำรวจในภาพรวม โดยถือเป็นหลักการทางสถิติที่ได้รับความนิยม จากจุดเริ่มต้นที่พาเรโตค้นพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักการนี้ โดยที่ 80% ของความมั่งคั่งของอิตาลีในช่วงเวลานั้นถูกควบคุมโดย 20% ของประชากร

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็น 80/20 แบบตรงเป๊ะเสมอไป แต่หลักพาเรโตทำให้เราเห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของธรรมชาติ ว่า สิ่งเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญ จะสร้างผลลัพธ์ได้อย่างมหาศาล ในขณะที่สิ่งใหญ่ ๆ แต่ไม่ได้สำคัญอะไร กลับส่งผลได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นเราอาจจะเจออัตราส่วนที่ผิดแผกออกไปบ้าง เช่น 90/10 หรือ 70/30 ได้เหมือนกัน

——————————————
เราจะใช้งานหลักพาเรโตอย่างไร
——————————————

หลักพาเรโตชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เราควรจะต้องให้ความสำคัญในการลงมือทำอะไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนหรือผลลัพธ์ที่มีความคุ้มค่าที่จะทำมากที่สุดก่อน ทำให้เราสามารถลดภาระงานที่ไม่จำเป็นลง และใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นการจะทำน้อยได้มาก ต้องน้อยอย่างมีคุณภาพด้วย ซึ่งการคิดแบบนี้จะทำให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงานได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

1. การประเมินความสำคัญของการทำงานแต่ละอย่าง บางครั้งเราทำทุกอย่างที่คิดรวดเดียวไม่ได้ การเลือกสิ่งที่สำคัญมาทำก่อนจะให้ผลที่เร็วและคุ้มค่ามากกว่าเสมอ เรียกว่า Work smart ก็ได้

2. การค้นหาว่าช่วงเวลาไหนที่เราทำงานแล้วได้ผลผลิตมาก (Productivity) บางคนอาจจะทำงานตอนดึก ๆ ที่เงียบสงบแล้วได้งานมากขึ้น หรือบางคนชอบทำงานตอนเช้า ซึ่งถ้าเข้าใจช่วงเวลาที่เหมาะสม งานก็จะเสร็จได้เร็วขึ้น และคุณภาพก็อาจจะดียิ่งขึ้นได้อีก

3. การสานความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เวลาของเรามีจำกัด และเราไม่สามารถคบหาสานความสัมพันธ์ระยะยาวได้กับทุกคน ดังนั้นการเข้าใจหลักพาเรโตจะทำให้เราเลือกคอนเนคชันที่มีศักยภาพได้

4. ทำสิ่งที่ได้ผลก่อน บางครั้งเราเห็นคนที่ยุ่งทั้งวัน เวลาว่างไม่มี แต่ไม่ประสบความสำเร็จซักที นั่นก็เพราะเวลาของเค้าทั้งหมดถูกใช้ไปกับสิ่งที่ให้ผลลัพธ์กลับมาน้อย คือใช้เวลา 80% เพื่อให้ได้ผล 20% ดังนั้นก่อนจะวางแผนการทำงานให้ถามตัวเองก่อนว่า สิ่งที่กำลังทำคือ 20% หรือ 80% กันแน่

ความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับหลักพาเรโตก็คือ การคิดว่า 80/20 จะเกิดขึ้นได้ทุกสถานการณ์ แล้วนำมาเป็นข้ออ้างในการทำงานน้อย ๆ ซึ่งไม่จริงเลย!!!

เพราะการจะเลือกทำน้อย ต้องเลือกอย่างถี่ถ้วนที่สำคัญจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว สังคม ธุรกิจ การบริหารจัดการในองค์กรใด ๆ ก็ตาม