fbpx

5 CEO ระดับโลกที่เรียนปริญญาตรีไม่ตรงสาย – Factsheet No.34

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

เราอาจจะได้เห็นบ่อย ๆ แล้วว่า ซีอีโอระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ มีทั้งคนที่จบการศึกษาแบบสายตรงในอุตสาหกรรมนั้น ๆ และในขณะเดียวกันก็มีอีกหลาย ๆ คน ที่ไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ก็ประสบความสำเร็จในระดับที่สูงมากได้

แต่ในวันนี้ Factsheets จะพาคุณมารู้จักกับ 5 ซีอีโอ ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่จบมาไม่ตรงสายงานที่แต่ละคนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน พวกเค้าเป็นใคร เรียนจบอะไรมา และสาขาที่เรียนจบนั้น ๆ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในวันนี้ได้อย่างไร เราจะวิเคราะห์ให้คุณฟัง

สุนทรา พิชัย (Sundar Pichai) แห่ง Google
พิชัยรับตำแหน่งซีอีโอของ Alphabet Inc. และบริษัทลูก Google มาตั้งแต่ปี 2015 พื้นเพของเขาเกิดที่เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย และเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโลหการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย ที่เมืองขรรคปุระ (Indian Institute of Technology, Kharagpur) จากนั้นย้ายไปสหรัฐอเมริกา เรียนจบปริญญาโทวัสดุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และบริหารธุรกิจจาก Wharton School of the University of Pennsylvania ซึ่ง Wharton มีศิษย์เก่าที่โด่งดังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ อีลอน มัสค์

พิชัยเคยทำงานเป็นวิศวกรด้านจัดการผลิตภัณฑ์ที่ Applied Materials (บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในซิลิคอนวัลเลย์) และเติบโตไปเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ก่อนจะเข้าทำงานใน Google เมื่อปี 2004 ในสายงานบริหารผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ถ้าเราสังเกตเส้นทางอาชีพของพิชัย จะเห็นว่าการเติบโตของเขาเริ่มจากสายงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก่อนพัฒนาตัวเองขึ้นสู่ระดับบริหาร และข้ามสายงานมายังซอฟต์แวร์ในที่สุด

ก่อนจะเป็นซีอีโอ พิชัยเคยรับผิดชอบดูแลโครงการใหญ่ ๆ ของ Google หลายตัว ตั้งแต่ Google Chrome, Google Drive, Gmail, Google Maps แถมยังเคยได้รับทาบทามให้เป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งซีอีโอ Microsoft กับสัตยา นาเดลลา ซีอีโอ Microsoft คนปัจจุบันเมื่อปี 2014 ด้วย

Kenneth Chenault แห่ง American Express
อดีต CEO ของ American Express บริษัทบัตรเครดิตชื่อดังจากสหรัฐ Kenneth Chenault เกิดที่นิวยอร์ค เรียนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จาก Bowdoin College ในแมสซาชูเซตส์ในปี 1973 และเรียนจบด้านกฎหมาย ได้วุฒิ Juris Doctor จาก Harvard University

เขาเริ่มทำงานในตำแหน่งนิติกรเมื่อปี 1977 – 1979 ที่สำนักงานกฎหมาย Rogers & Wells ก่อนจะเติบโตมาเป็นที่ปรึกษาในบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company ในปี 1979 – 1981 ซึ่งถือว่าเป็น Big Three ของวงการบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งประกอบด้วย McKinsey & Company (ซึ่งพิชัยก็เคยทำงานที่นี่) , Boston Consulting Group และ Bain & Company

ในปี 1981 Chenault เข้าทำงานในฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ที่ American Express ได้เป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer : COO) ในปี 1997 และเป็น CEO ในปี 2001 ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปี 2018

หลังเกษียณจาก American Express แล้ว เขาก็ได้รับเชิญให้เป็นบอร์ดของธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น IBM, P&G, AirBNB, Facebook และล่าสุดเขาเป็นกรรมการบริหารของ Berkshire Hathaway ซึ่งมี CEO คือคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟต แทนที่ Bill Gates ที่ลาออกไป

Reed Hastings แห่ง Netflix
Reed Hastings เกิดที่บอสตัน หลังจากจบชั้นมัธยมปลายเขาใช้เวลาว่าง (Gap year) 1 ปี ในการเป็นเซลล์ขายเครื่องดูดฝุ่น จากนั้นเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่ Bowdoin College ในสาขาคณิตศาสตร์ และใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปสมัครเข้าร่วมหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ เรียนหลักสูตรนายทหารผู้บังคับหมวดควบคู่ไปด้วย

หลังจบการศึกษา เขาเข้าร่วมหน่วยงานอาสาสมัครของรัฐบาลสหรัฐที่เรียกว่า Peace Corps เป็นครูสอนหนังสือในวิชาคณิตศาสตร์ให้นักเรียนในประเทศสวาซิแลนด์ ทวีปแอฟริกา โดย Reed Hasting ได้ให้เครดิตในเรื่องการปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการกับโครงการ Peace Corps ครั้งนั้นว่า “เมื่อคุณเคยรอนแรมไปทั่วแอฟริกาด้วยเงิน 10 เหรียญในกระเป๋าแล้ว การเริ่มต้นธุรกิจก็กลายเป็นสิ่งที่ดูไม่น่ากลัวเกินไป” ทำให้หลังกลับจากแอฟริกา เขาเข้าเรียนที่สแตนฟอร์ด จบปริญญาโทสาขา Computer Science แล้วเริ่มทำธุรกิจครั้งแรกชื่อ Pure Software ซึ่งมีสินค้าเป็นซอฟต์แวร์ที่มีไว้แก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์อื่น ๆ

Pure Software ถูกควบรวมเข้ากับบริษัท Rational Software ในปี 1997 และนั่นเป็นหายนะครั้งสำคัญทางธุรกิจ เนื่องจากมูลค่าหุ้นของทั้งสองบริษัทร่วงลงไปถึง 42% ในจุด ๆ นั้นเขาและพนักงานอีกคนของ Pure Software คือ Marc Randolph ได้ร่วมกันก่อตั้ง Netflix ขึ้น เป็นบริการเช่าภาพยนตร์โดยให้ลูกค้าเปิดดูแคตาล็อกผ่านเว็บ และส่งภาพยนตร์ด้วยแผ่น DVD ไปทางไปรษณีย์ ก่อนที่ Netflix จะเรียนรู้และถูกพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในปัจจุบัน

Stewart Butterfield แห่ง Slack
Slack เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสื่อสารภายในองค์กรธุรกิจที่มีลักษณะเหมือนห้องแชท แต่สามารถเพิ่มความสามารถต่าง ๆ โดยเชื่อมกับระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยผ่าน API (Application Programming Interface) ที่แต่ละองค์กรสามารถพัฒนาระบบงานของตัวเองให้ทำงานเชื่อมต่อกับระบบแชทได้อย่างสะดวก

Butterfield เกิดในแคนาดา เขาเป็นคนที่ชอบเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็ก และมีรายได้พิเศษจากการรับออกแบบเว็บไซต์ เขาจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาจาก University of Victoria ในปี 1996 และปริญญาโท Master of Philosophy จาก Clare College

ตรงนี้ต้องขอขยายความเล็กน้อย ว่าปริญญาตรีสาขาปรัชญา (BA in Philosophy) และปริญญาโท Master of Philosophy นั้นไม่ได้หมายความเป็นปริญญาสาขาเดียวกัน เพราะอันหลังเป็นหลักสูตรการวิจัยเชิงวิชาการที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ในวิชาเฉพาะได้และให้ความรู้ที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม (และผู้เรียนมักจะต่อยอดไปเรียนปริญญาเอก Doctor of Philosophy ต่อ) ตรงนี้ไม่พบหลักสูตรคล้ายกันในประเทศไทย

Butterfield ก่อตั้งสตาร์ทอัพแรกที่ประสบความสำเร็จในปี 2002 ก็คือแพลตฟอร์มแชร์ภาพถ่ายที่ชื่อว่า Flickr ซึ่งก็ยังคงให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน และในปี 2013 เขาก็เปิดตัว Slack ขึ้น จนล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Salesforce ได้ยืนยันว่ามีแผนจะเข้าซื้อ Slack ด้วยจำนวนเงิน 27.7 พันล้านเหรียญ หรือราว 8 แสนล้านบาท !

Phebe Novakovic แห่ง General Dynamics
Phebe Novakovic เธอมีเชื้อสายเซอร์เบีย จบการศึกษาด้านเยอรมันและการเมืองในระดับปริญญาตรีจาก Smith College ในแมสซาชูเซตส์ และปริญญาโท MBA จาก Wharton

เธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่งบประมาณหน่วยสืบราชการลับ (CIA) และตำแหน่งสุดท้ายคือผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1997 – 2001 จากนั้นเข้าทำงานที่ General Dynamics ก้าวขึ้นเป็น COO ในปี 2012 และปีถัดมาคือปี 2013 ก็ขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO

Phebe Novakovic ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐ และมีชื่อติดอันดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกของนิตยสารฟอร์จูน

เราได้เห็นอะไรจาก CEO เหล่านี้
เราจะเห็นได้ว่า ทุก ๆ คนล้วนมีจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง กรณีของ Pichai และ Chenault คือการได้ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก หรือ Novakovic ที่มีโอกาสทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในหน่วยงานความมั่นคง สามกรณีแรกคือการที่ทั้งสามคนได้เปิดมุมมองที่กว้างขวางยิ่งขึ้นจากการไปยืนอยู่ในจุดที่คนอื่นก็อาจจะได้ยืน แต่มีทัศนคติแตกต่างจากคนอื่นออกไป แล้วทำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ไปอยู่ในจุดที่ได้เปรียบและประสบความสำเร็จได้เร็ว

กรณีของ Hastings เขาได้รับมุมมองใหม่ ๆ จากการเดินทางไปยังแอฟริกา แล้วผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้มนุษย์เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองถึงขีดสุดจนไม่กลัวความล้มเหลว นำมาซึ่งการทำธุรกิจ ที่ครั้งแรกไม่สำเร็จ ครั้งที่สองก็ฝ่าฟันมาจนเป็น Netflix ทุกวันนี้

ส่วนกรณีของ Butterfield นั่นคือการได้ทำในสิ่งที่รัก เป็นตัวอย่างว่าคนแต่ละคนมีทางเลือกอยู่เสมอในการทำให้สิ่งที่ตัวเองรัก แล้วใช้องค์ความรู้ที่เกิดจากการเชื่อมต่อองค์ความรู้หลายส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งสิ่งที่ชอบและสิ่งที่เรียน (ปรัชญา – วิจัย) นำมาสู่การสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ

“เมื่อใดที่เราค้นพบ Passion วิธีการที่ดีที่สุดที่จะสร้างความสำเร็จจาก Passion อาจจะไม่ใช่การหันหลังกลับเสมอไป แต่อาจจะเป็นการเดินต่อไปข้างหน้าแบบมีจุดหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”