fbpx

Smart City คืออะไร – Factsheet No.71

ตามโนบายของรัฐบาลไทยที่กำลังพยายามพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก ระยอง และที่อื่น ๆ อีกกว่า 30 จังหวัด วันนี้ Factsheets จะพาทุกท่านไปรู้จักกับความหมายของ Smart City ว่าการที่เราจะเรียกเมือง ๆ หนึ่งว่า Smart City ได้นั้น ควรจะต้องมีอะไรบ้าง และในทางเทคโนโลยีประกอบด้วยอะไร

นิยามของการเป็น Smart City

ตามนิยามของศาสตราจารย์ Mark Deakin จาก Edinburgh Napier University สกอตแลนด์ ได้ระบุปัจจัย 4 ประการในการเป็น Smart City ไว้ดังนี้
1. มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลที่หลากหลายกับชุมชนและเมือง
2. มีการใช้ ICT เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตและสภาพแวดล้อมการทำงานของพื้นที่
3. มีการใช้ ICT ในระบบงานภาครัฐ
4. มีการกำหนดขอบเขตของแนวปฏิบัติที่นำ ICT และผู้คนมารวมกันเพื่อยกระดับนวัตกรรมและความรู้

ดังนั้น ตามปัจจัยทั้ง 4 ประการข้างบน อาจตีความได้ว่า Smart City เป็นเมืองที่ใช้ ICT เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด (พลเมือง) ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น Smart City จะเป็นเมืองที่ไม่เพียงแต่และใช้ ICT เท่านั้น แต่ยังมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในลักษณะที่ส่งผลดีต่อชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

ประโยชน์ของการเป็น Smart City

การนำ ICT เข้ามาจะทำให้เมืองสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถนน แหล่งน้ำ บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่และพลเมือง เพื่อออกแบบเมืองตามความต้องการของพลเมือง ทำให้เมืองสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

เฟรมเวิร์คด้านเทคโนโลยี

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Smart City ต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมาก ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการมีส่วมร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ของเมือง หากเราเอากรอบการทำงานของ Smart City มาแยกส่วน จะพบว่ามีส่วนต่าง ๆ ที่เมืองจะต้องร่วมกันพัฒนาเพื่อให้ไปสู่ Smart City ประกอบด้วย

ดิจิทัล : โครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเน้นการบริการเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมต่อบุคคลและอุปกรณ์ต่างๆในเมืองอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงบริการด้านนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร
อัจฉริยะ : เทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ของเมือง เช่น AI และ Machine Learning ที่จะช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ครอบคลุม : การเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสาธารณะ การจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่สะดวกและทำได้จากทุกที่
เชื่อมต่อ : ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT และเทคโนโลยีไร้สายที่เป็นศูนย์กลางของบริการต่าง ๆ และลดการใช้งานกำลังคน
ไฮบริด : เทคโนโลยีกับกายภาพจะต้องทำงานสอดประสานกันโดยหลักคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด
ข้อมูล : Smart City ทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้นเมืองจะต้องมีวิธีการจัดเก็บและใช้งานข้อมูลที่เติบโตขึ้นทุกวันได้อย่างปลอดภัย

Smart City ในต่างประเทศ

ในแต่ละประเทศก็จะมีการพัฒนา Smart City ที่ตอบโจทย์ต่างกันออกไป เช่น
– ซานฟรานซิสโก มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าสคาร์บอนด้วยการส่งเสริมพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานจักรยาน
– ซินเจียง ติดตั้งหน้าจอแสดงข้อมูลรถประจำทาง พร้อมเชื่อมโยงไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อให้สามารถตรวจสอบเวลาที่รถโดยสารจะมาถึงได้อย่างแม่นยำ รวมถึงแสดงข้อมูลการจราจรแบบ Real time เพื่อช่วยให้สามารถวางแผนการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น

ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า Smart City ในประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทและทำให้วิถีชีวิตของเราดีขึ้นอย่างแน่นอน ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศและพลเมืองของแต่ละจังหวัดจึงมีหน้าที่จะต้องจับตามองและตรวจสอบการพัฒนา Smart City ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ใช้งานได้จริง และโปร่งใสจริงหรือไม่

ที่มา
– Sharifi, Ayyoob (October 2019). “A critical review of selected smart city assessment tools and indicator sets”. Journal of Cleaner Production. 233: 1269–1283.
– Deakin, Mark; Al Waer, Husam (2011). “From Intelligent to Smart Cities”. Journal of Intelligent Buildings International: From Intelligent Cities to Smart Cities. 3 (3): 140–152. doi:10.1080/17508975.2011.586671. S2CID 110580067.