“ชายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance man)” หรือ “พหูสูต (Polymath)” เป็นที่มีความสามารถหลากหลายและโดดเด่นในตัวคน ๆ เดียว ที่มาของคำว่า Renaissance man ก็เกิดจากการที่ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (เรเนซองส์ – Renaissance) เราจะพบว่ามีบุคคลในยุคนั้นหลายคนที่มีความสามารถหลากหลายในตัวคน ๆ เดียว และแต่ละคนก็มีประวัติและผลงานที่น่าสนใจอย่างมาก โดยคนที่มีลักษณะเป็น Renaissance man ไม่ได้จำกัดเพศ และไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่ในยุคเรเนซองส์เท่านั้น โดยคนแรกที่เคยได้รับการเรียกขานว่า Renaissance man ก็คือเลโอนาร์โด ดา วินชี
และวันนี้ Factsheets จะพาคุณมาพบกับ “Renaissance man” 7 คนในประวัติศาสตร์ ว่ามีใครกันบ้าน และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องที่มาที่ไปของคนเก่งหลายด้านบนโลกนี้สามารถถอดบทเรียนเคล็ดลับความเป็นคนเก่งออกมาได้อย่างไร เพื่อที่เราอาจจะพัฒนาตัวเองไปเป็นคนที่เก่งกาจหลายด้าน ที่มีความสุข และความสำเร็จ
อริสโตเติล (Aristotle)
เป็นนักปรัชญาและผู้รอบรู้ชาวกรีกในสมัยกรีกโบราณ เขามีความเชี่ยวชาญหลายสาขาวิชา คือฟิสิกส์ ชีววิทยา สัตววิทยา อภิปรัชญา ตรรกศาสตร์ จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ บทกวี การละคร ดนตรี วาทศาสตร์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองและการปกครอง อริสโตเติลเป็นศิษย์ของเพลโต ซึ่งก็เป็นนักปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างสูง และเป็นพระอาจารย์ให้แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผลงานของอริสโตเติลเป็นรากฐานในการพัฒนาองค์ความรู้ในเกือบทุกสาขาวิชาในปัจจุบัน
จูกัดเหลียง (Zhuge Liang 诸葛亮)
เป็นชาวจีนที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก มีชีวิตในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นถึงยุคสามก๊ก เป็นที่ปรึกษาด้านการทหารของพระเจ้าเล่าปี่ เคยในตำแหน่งสมุหนายกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งจ๊กก๊ก มีความสามารถรอบรู้ทั้งในด้านการเมือง การทูต นักปราชญ์ วิศวกรและได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นที่สำคัญ โดยคิดค้นหมั่นโถว หน้าไม้กล โคมลอยและระบบชลประทาน มีชื่อที่รู้จักกันดีว่า “ขงเบ้ง” เป็นผู้รอบรู้สรรพวิชาอย่างถ่องแท้ มองจิตใจคนทะลุปรุโปร่ง ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ จึงสามารถล่วงรู้ได้ถึงสภาพดินฟ้าอากาศ และนำมาใช้ประโยชน์ในการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
เป็นอัจฉริยบุคคลซึ่งมีความสามารถหลากหลาย ทั้งสถาปนิกแบบเรอเนซองส์ นักดนตรี นักกายวิภาคศาสตร์ นักประดิษฐ์ วิศวกร ประติมากร นักเรขาคณิต นักวาดภาพ นักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ มีงานศิลปะที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น เช่น พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย โมนา ลิซ่า และภาพกายวิภาคที่ล้ำยุคอย่างวิทรูเวียนแมน และเป็นต้นแบบให้เกิดคำเรียกขานว่าเป็น ชายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance Man) ที่เรานำมาเล่าให้ฟังในวันนี้
จิอาโคโม คาสโนวา (Giacomo Casanova)
เป็นนักเขียน นักผจญภัย ผู้มีชื่อเสียงในด้านความสามารถในการเอาชนะใจหญิงสาว โดยมีการบันทึกไว้ว่าเขาเคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสตรีอย่างน้อย 112 คน โดยชีวิตของคาสโนวาเคยเป็นทั้งนักบวชในศาสนาคริสต์ ทหาร ทูต นักพนัน บรรณารักษ์ มีทั้งช่วงชีวิตที่รุ่งโรจน์ และตกต่ำถึงขั้นติดคุกติดตะราง
เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)
นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญาธรรมชาติ นักเล่นแร่แปรธาตุ และนักเทววิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งวางรากฐานของวิชากลศาสตร์ดั้งเดิม เช่น กฎแรงโน้มถ่วงสากล และ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ซึ่งเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์อันเป็นเสาหลักของการศึกษาจักรวาลทางกายภาพตลอดช่วง 3 ศตวรรษถัดมา นอกจากนี้ นิวตันยังสร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่สามารถใช้งานจริงได้เป็นเครื่องแรก และพัฒนาทฤษฎีสีจากผลสังเกตการณ์ว่า ปริซึมสามเหลี่ยมสามารถแยกแสงสีขาวออกมาเป็นหลาย ๆ สีได้ โดยนิวตันได้รับยกย่องจากปราชญ์และสมาชิกสมาคมต่าง ๆ ว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)
เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 และผู้ประพันธ์ “คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา” (Declaration of Independence) เขาเป็นทั้งนักปราชญ์ นักการศึกษา นักธรรมชาตินิยม นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ช่างประดิษฐ์ ผู้บุกเบิกในกสิกรรม วิทยาศาสตร์ นักดนตรี และนักเขียน โดยเจฟเฟอร์สันเป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐที่รูปใบหน้าได้รับการสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมานต์รัชมอร์ (Mount Rushmore) ใบหน้าของเขาปรากฏบนธนบัตรราคา 2 ดอลลาร์สหรัฐ และเหรียญนิกเกิล (5 เซนต์)
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
เป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และนักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม กลศาสตร์สถิติ และจักรวาลวิทยา โดยไอน์สไตน์ ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของความฉลาดหรืออัจฉริยะในปัจจุบัน
แนวคิดในการพัฒนาตัวเองให้เป็น Renaissance man
Robert Root-Bernstein ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Michigan State University ได้ทำการศึกษาและแบ่งที่มาหลักของศักยภาพในการสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล ออกแบบ 6 ประเภท เรียกว่า Six typologies of creative life stages ไว้ดังนี้
ประเภทที่ 1 มีความสามารถที่โดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตั้งแต่ในช่วงแรก และประสบความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์จากความสามารถนั้นเพียงอย่างเดียว (เช่น อัจฉริยะ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน)
ประเภทที่ 2 เคยทำหลายสิ่งซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่นการมีงานอดิเรกที่หลากหลาย จากนั้นก็เลือกใช้ประโยชน์จากความสามารถเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เคยทำ (คนประเภทนี้จะมีมุมมองและวิธีคิดที่กว้าง)
ประเภทที่ 3 ทำหลายสิ่งตั้งแต่ต้น และยังคงทำอย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กันอยู่ตลอดเวลา (อาจจะถูกเรียกว่าเป็นเป็ด แต่มนุษย์เป็ดก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่ต้องการได้เหมือนกัน)
ประเภทที่ 4 มีความสามารถในระดับที่ได้รับการยอมรับในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และขยายไปทำในเรื่องอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ
ประเภทที่ 5 คนที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ และเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่น ๆ แบบเป็นลำดับ (อาจจะโดยความชอบ หรือความต้องการค้นหาตัวตน)
ประเภทที่ 6 คนที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จมาก่อน และจึงค่อยเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่น ๆ แบบเป็นลำดับเหมือนประเภทที่ 5
โดย Robert Root-Bernstein ได้สรุปว่าการมีความเข้าใจที่มาของความเก่งกาจ 6 ประเภทที่กล่าวมา จะทำให้คนแต่ละคนสามารถออกแบบวิธีการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และเป็นการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายผ่านการทำงานหลายอย่าง เพื่อเข้าใจ “จังหวะชีวิต” ในการประสบความสำเร็จ
ที่มา
Root-Bernstein, R. (2003). The art of innovation: Polymaths and universality of the creative process. In The international handbook on innovation