fbpx

เจาะลึก DNA ความเป็นอมตะของ Nintendo – Factsheet No.74

หนึ่งในบริษัทที่คนทั่วโลก ทุกยุคสมัยต้องรู้จักเป็นอย่างดี ในความเป็นธุรกิจแห่งความสนุก คงหนีไม่พ้นบริษัทเกมจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่างนินเทนโด้ : Nintendo ซึ่งผลิตทั้งเกม เครื่องเล่นเกม และผลิตภัณฑ์ด้านความบันเทิงมากมาย

Factsheets เราเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทญี่ปุ่นมาแล้วครั้งหนึ่ง ว่าบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้ จนถึงขนาดบริษัทเก่าแก่ 5 อันดับของโลกล้วนแล้วแต่มาจากญี่ปุ่น และนินเทนโด้ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่มีอายุมากกว่า 130 ปี และก็ถือว่านินเทนโด้เป็นบริษัทวีดิโอเกมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย

วันนี้เราจะพาท่านผู้อ่านย้อนประวัติความเป็นมาของนินเทนโด้ ว่านินเท็นโด้ทำอย่างไรตลอดเวลา 130 ปี ถึงทำให้จุดยืนของธุรกิจมีความแข็งแกร่งมาได้ทุกยุคสมัย

ยุคเริ่มต้น ปี 1889

นินเทนโด้ก่อตั้งขึ้นในชื่อว่า Nintendo Karuta เมื่อวันที่ 23 กันยายน 1889 โดยช่างฝีมือชื่อ ฟุซาจิโระ ยามาอุจิ ที่เมืองเกียวโต โดยทำธุรกิจผลิตและขายไพ่ญี่ปุ่นที่เรียกว่าฮานาฟูดะ หรือ ไพ่ดอกไม้ หลังจากนั้นในปี 1902 ก็เริ่มขายไพ่แบบตะวันตกเพิ่มขึ้นมา จนกระทั่งหลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น รัฐบาลได้กำหนดภาษีไพ่ขึ้นมา ทำให้นินเทนโด้ได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นนินเทนโด้จึงต้องปรับตัว ไม่ทำธุรกิจผลิตและขายไพ่แบบ B2C อย่างเดียว แต่เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้โดยทำตลาด B2B ด้วย คือการดีลกับบริษัทบุหรี่ Nihon Senbai เพื่อทำการ์ดปฏิทินส่งเสริมการขายให้กับบุหรี่แทน

ในวัฒนธรรมธุรกิจญี่ปุ่น การให้ลูกบุญธรรมหรือลูกเขยเป็นผู้สืบทอดธุรกิจก็เป็นทางหนึ่งในการทำให้ธุรกิจครอบครัวดำเนินไปสู่เจนเนอเรชั่นถัดไป นินเทนโด้ก็เช่นกัน โดยฟุซาจิโระ ยามาอุจิ ได้ให้ เซคิริว คาเนดะ ลูกเขย ขึ้นมาเป็นทายาททางธุรกิจ โดยเซคิริวได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นยามาอุจิในปี 1907 และกลายเป็นประธานคนที่สองของนินเทนโด้ในปี 1929 ในเวลานั้นนินเทนโด้เป็นบริษัทการ์ดเกมที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

ยุคขยายตัว ปี 1929

เมื่อเซคิริวเข้ารับตำแหน่งประธานรุ่นที่ 2 ก็ได้ริเริ่มขยับขยายทั้งอาคารสถานที่ให้ใหญ่โตยิ่งขึ้น โดยตอนแรกเซคิริวคิดจะให้ลูกเขย ชิคาโนโจ อินาบะ ซึ่งเป็นนักออกแบบฝ่ายศิลป์ในบริษัทเป็นทายาทรุ่นถัดไป แต่อินาบะก็ได้ลาออกจากบริษัทและลาจากครอบครัวไป ทำให้ลูกชายของอินาบะ ซึ่งเป็นหลายชายของเซคิริว ชื่อ ฮิโรชิ ได้รับเลือกเป็นทายาททางธุรกิจแทน

นินเทนโด้ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือการที่รัฐไม่สนับสนุนและจำกัดสื่อบันเทิงให้น้อยลงจากภาวะสงครามที่ยากลำบาก ทำให้บริษัทมีรายได้ลดลง แต่ก็ผ่านมาได้เพราะความช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากครอบครัวภรรยาของฮิโรชิ

จนกระทั่งปี 1959 นินเทนโด้ได้รับสิทธิ์ในการผลิตและขายการ์ดไพ่ที่เป็นรูปตัวการ์ตูนจาก Walt Disney ทำให้ธุรกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง สามารถขายการ์ดไพ่ได้ 1.5 ล้านชุดภายในระยะเวลา 2 ปี นำไปสู่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 1963 และมีรายได้ 150 ล้านเยนในปี 1964

ในช่วงปี 1963-1968 นินเทนโด้ได้ลงทุนพยายามบุกเบิกธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการ์ดไพ่เลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป โรงแรมแบบ Love Hotel และกิจการแท็กซี่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ และต้องกลับมาเน้นทำธุรกิจการ์ดไพ่ซึ่งยังคงทำได้ดีต่อไป

ยุคของเล่น ปี 1969

ในปี 1969 หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง นินเทนโด้เลือกที่จะขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกับที่มีอยู่ จากไพ่ สู่เกมกระดาน ซึ่งนับเป็นก้าวที่สำคัญทีเดียว นินเทนโด้มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งหมากรุก หมากล้อม และขยายไปยังของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ปืนของเล่นต่าง ๆ โดยในช่วงนี้เองนินเทนโด้ได้ผลิตของเล่นเกี่ยวกับวีดิโอเกมเป็นครั้งแรก ก็คือ light gun หรือปืนที่เอาไว้ใช้เล่นกับเกมคอนโซล Magnavox Odyssey

ยุคอิเล็กทรอนิกส์ ปี 1973 – ปัจจุบัน

หลังจากที่นินเทนโด้ได้ทำ light gun ให้กับ Odyssey แล้ว ก็เกิดแนวคิดที่จะสร้างเครื่องเล่นเกมคอนโซลของตัวเองขึ้นมา เริ่มจากการขอซื้อสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเครื่อง Odyssey ในญี่ปุ่นจาก Magnavox ตามด้วยการทำข้อตกลงกับมิตซูบิชิในการผลิตแผงวงจรรวมสำหรับเครื่องคอนโซล ก้าวหน้ามาเรื่อย ๆ จนถึงเครื่อง Family Computer หรือ FamiCom ที่แทบทุกคนต้องเคยเล่น เครื่องเกม Gameboy ต่าง ๆ ตามมาด้วย Wii และ Switch ในทุกวันนี้

นินเทนโด้ไม่เพียงแต่ทำฮาร์ดแวร์เท่านั้น ตัวเกมซึ่งเป็น Software Content ก็ทำด้วย ไม่ว่าจะเป็น Donkey Kong, Zelda, Pokemon หรือตัวละครที่เป็นอมตะของวงการเกมอย่าง Mario ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากนินเทนโด้ทั้งสิ้น

เราได้เรียนรู้อะไรจากนินเทนโด้

นินเทนโด้จึงเป็นตัวอย่างของความเป็นปลาเร็วที่ดีเยี่ยม พวกเค้าไม่ได้เริ่มต้นด้วยการมีจุดแข็งในด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่พวกเค้าเข้าใจลูกค้า และเข้าใจตัวเอง และไม่หยุดที่จะไขว่คว้าโอกาสใหม่ ๆ อย่างตลาดเกม พวกเค้ามีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก เราจะเห็นได้ตั้งแต่การหาทางรอดด้วยการดีลธุรกิจแบบ B2B หลังสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย การมองเห็นช่องทางในการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์จากเกมไพ่ไปยังของเล่น รวมถึงการเข้าใจตลาดว่าวันหนึ่งข้างหน้าเกมอิเล็กทรอนิกส์จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของโลกแห่งความบันเทิง ทำให้เตรียมตัวในเรื่องต่าง ๆ เช่นการหาผู้ผลิตชิป การวางแผนพัฒนาคอนเทนต์ได้ก่อนใคร บวกกับระบบธุรกิจญี่ปุ่นที่ให้คนเก่งเป็นผู้สืบทอดด้วยระบบลูกบุญธรรมหรือลูกเขย ก็ยิ่งทำให้โอกาสที่ธุรกิจจะคงอยู่ต่อไปอย่างแข็งแกร่งมีมากขึ้นจากบริษัทอื่น ๆ

ถึงเราจะจำภาพที่นินเทนโด้เป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลในวงการเกมในปัจจุบันที่สุด แต่พวกเค้าก็ไม่ได้ทำอะไรสำเร็จไปซะทุกเรื่อง พวกเค้าเคยทำแท็กซี่ เคยทำอาหาร เคยทำโรงแรม เคยล้มเหลวมาแล้วทั้งหมด ดังนั้นนินเทนโด้ก็ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวของจริงได้อย่างแจ่มแจ้ง พวกเค้าเข้าใจตัวเองอย่างดี ว่าพวกเค้าไม่เหมาะกับการจะลงไปเล่นในเกมที่ไม่ถนัด สามารถตัดสินใจหยุดเลือดในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงได้ในจังหวะพอดี ทำให้ยังดำรงธุรกิจต่อเนื่องมาได้ระยะยาว