fbpx

บอร์ดเกมกับ HRD – Factsheet No.75

เชื่อว่าทุกคนย่อมต้องมีประสบการณ์กับเกมกระดาน หรือบอร์ดเกม : Board Game ไม่เกมใดก็เกมหนึ่ง เช่น เกมเศรษฐี (Monopoly) ตั้งแต่เรายังเด็ก ๆ แต่เราก็อาจหาโอกาสเล่นได้ไม่บ่อยนัก หากไม่ได้เล่นกับลูก ๆ หลาน ๆ ในครอบครัว ในช่วงเวลานั้นเอง สายงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ HRD หรือเรียกง่าย ๆ ว่าฝ่ายบุคคลของธุรกิจ ต่างก็มีความสนใจที่จะนำบอร์ดเกมไปใช้ในการค้นหาตัวตนและศักยภาพพนักงานแต่ละคนผ่านการเล่นเกม เนื่องจากบอร์ดเกมจะสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการละลายพฤติกรรม ให้ทุกคนได้แสดงออก พูดคุย และตัดสินใจการเล่นเกมของตัวเอง

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่โควิด 19 จะระบาด มีธุรกิจหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างมีเสน่ห์ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัล นั่นก็คือ คาเฟ่บอร์ดเกม ที่ให้บริการบอร์ดเกมควบคู่ไปกับอาหารและเครื่องดื่ม มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และมี Game Master ที่ทำหน้าที่คอยแนะนำวิธีการเล่นเกมกระดานรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร้าน แถมคาเฟ่บอร์ดเกมจำนวนมากยังเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงอีกต่างหาก

ทำไมต้องเป็นบอร์ดเกม

และด้วยความที่บอร์ดเกมก็คือเกม ที่มีหน้าที่หลักในการให้ความบันเทิงกับผู้เล่น ดังนั้นคนที่กำลังเล่นบอร์ดเกมก็จะได้ทั้งความสนุก ได้ Soft skill เช่น การเจรจาต่อรอง การวางกลยุทธ์ต่างไปด้วยในตัว โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่ออีกด้วย

สิ่งแรก ๆ ที่เราได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนที่เรายังเด็ก นั่นคือการเรียนรู้วิธีการเล่นสนุก ดังนั้นบอร์ดเกมจึงเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้งานได้ง่าย โดยพึ่งพาสัญชาตญาณในการแสวงหาความสนุกขอเราเอง โดยบอร์ดเกมไม่เพียงแค่เป็นเครื่องมือในการสอนเรื่องที่ถูกออกแบบไว้เท่านั้น แต่ยังสามารถปลูกฝังความเป็นทีม ช่วยให้คนในทีมทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ประเภทของบอร์ดเกม

ส่วนใหญ่บอร์ดเกมจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1. แบบคลาสสิค หรือ แบบครอบครัว

จะเน้นการเดินทางไปสู่เป้าหมาย โดยจะเน้นการสุ่มมากกว่าการตัดสินใจของคนเล่น เช่น บันไดงู มีไว้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก การตัดสินใจของคนเล่นไม่ได้มีผลต่อเกมมากนัก

2. แบบยูโร

จะเริ่มมีการเจรจาระหว่างผู้เล่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะใช้เวลาหลายรอบจนกว่าจะได้ผู้ชนะ มีเรื่องการเมืองในเกม เช่น Power Grid

3. แบบวางแผนกลยุทธ์

จะมีความยิ่งใหญ่กว่าแบบยูโร คือมีความซับซ้อนของการเมืองสูงกว่า มีการเจรจา การหักหลัง การจับมือกันเป็นพันธมิตรในเกม เช่น Battlestar Galactica

4. แบบเกมการ์ด

เป็นเกมที่ใช้การ์ดเป็นอุปกรณ์หลัก มีการสุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องอาศัยการตัดสินใจและการเจรจาของผู้เล่นด้วย เช่ร 7 Wonders

โดยในแต่ละเกม จะมีส่วนประกอบพื้นฐานคล้าย ๆ กัน คือ มีกฎกติกาการเล่น มีอุปสรรคความท้าทาย มีส่วนประกอบทางกายภาพ เช่น โทเคนแทนเงิน ลูกเต๋า ตัวหมาก และมีเป้าหมายของเกม ที่เป็นเงื่อนไขในการหาผู้ชนะ หรือผู้ที่ถูกคัดออก

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากบอร์ดเกม

1. เป็นเครื่องมือช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ในสถานการณ์การทำงาน พฤติกรรมของแต่ละคนอาจจะแสดงออกมาเร็วหรือช้าแตกต่างกัน การที่ทุกคนมีโอกาสแสดงพฤติกรรมในบอร์ดเกมจะช่วยลดโอกาสที่พฤติกรรมบางอย่างจะสร้างความเสียหายในโลกแห่งความเป็นจริง โดยหากเราพบเห็นแนวโน้มการตัดสินใจที่อาจเป็นอันตราย เราสามารถที่จะค่อย ๆ ปรับจูนวิธีคิดของคน ๆ นั้นได้อย่างละมุนละม่อม เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เหมาะสมต่อการทำงานร่วมกับคนอื่น

2. ได้เห็นผลตอบรับอย่างรวดเร็ว

การกำหนดสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยบอร์ดเกม อาจจะใช้เป็นเครื่องมือคำถาม (Questionaire) กลาย ๆ ได้ด้วย ในกรณีที่เราอยากรับฟังความคิดเห็นของคนทำงาน เราอาจจำลองสถานการณ์ไว้ในเกมเพื่อหยั่งเชิงแนวทางของผลตอบรับได้ ซึ่งก็จะเป็นทั้งการรักษาน้ำใจ หรืออาจจะเป็นการไม่แหวกหญ้าให้งูตื่นก็ได้

3. เสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงาน

การเล่นบอร์ดเกมทำให้คนสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเล่นเกมที่เล่นกันเป็นทีม นอกจากจะช่วยละลายพฤติกรรมให้สามารถพูดคุยกันได้ดียิ่งขึ้น ยังทำให้เข้าใจนิสัยใจคอของกันและกัน รู้จักใจเขาใจเราได้ดียิ่งขึ้นด้วย

4. เพิ่มความมีส่วนร่วม

ในทุกองค์กรย่อมมีคนที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับสังคมที่ทำงานด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งก็อาจเป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้มีความรู้สึกห่างเหิน แต่ถ้ามีโอกาสได้เล่นบอร์ดเกมด้วยกัน ช่องว่างต่าง ๆ ก็จะน้อยลง โดยที่ไม่ต้องบังคับให้ใครมางานสังสรรค์อะไรนอกเวลางาน

5. จูงใจให้เกิดการแข่งขัน

การแข่งขันในบอร์ดเกมอาจจะจุดไฟแห่งความพยายามให้กับหลาย ๆ คนขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้พวกเค้าแสดงศักยภาพออกมาในชีวิตการทำงานได้มากขึ้นกว่าเดิม

6. รักษาโมเมนตัมของการเรียนรู้จังหวะของตัวเอง

คนแต่ละคนมีจังหวะในการเรียนรู้และการทำงานต่างกันออกไป บางคนเน้นช้า ๆ แต่ได้พร้าเล่มงาม บางคนเน้นความสำคัญกับการหาข้อมูล บางคนเน้นหลักการปลาเร็วกินปลาช้า ทำให้จังหวะในการคิดและตัดสินใจไม่เหมือนกันนั่นเอง การเล่นบอร์ดเกมจะสะท้อนให้คนแต่ละคนเห็นจังหวะในการคิดเรื่องแต่ละเรื่องของตัวเองได้เด่นชัดมากขึ้น จากการได้เห็นจังหวะการตัดสินใจของผู้เล่นคนอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นข้อดีที่ทำให้ต่างคนต่างเข้าใจจังหวะซึ่งกันและกัน

7. เพิ่มขีดความสามารถในการจำและการนึกข้อมูลในสมอง

บอร์ดเกมมีทั้งกฎ กติกา และข้อมูลต่าง ๆ ที่ช่วยฝึกสมองในตัว เช่น ตาใครผ่านไปแล้ว เมื่อสักครู่ใครโจมตีใคร สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของสมองให้มีปฏิกิริยาตอบสนองดีขึ้น จำอะไรแม่นขึ้น คำนวณได้เร็วขึ้น

จะหาบอร์ดเกมที่เหมาะกับเราได้อย่างไร

การได้มาซึ่งบอร์ดเกมมี 2 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน วิธีแรกคือการออกแบบบอร์ดเกมขึ้นมาเอง โดยจะต้องใช้ความเข้าใจในการสร้างกฎกติกา การออกแบบวิธีการเล่น (Gameplay) รวมถึงการสร้างงานศิลปะประกอบด้วย เช่น วาดภาพ หรือทำโมเดล

กับอีกวิธีหนึ่ง ก็คือการหา หรือซื้อ บอร์ดเกมมาใช้งาน โดยควรจะต้องตั้งคำถามประมาณนี้กับองค์กรของคุณเองก่อน เช่น
– คนเล่นอายุประมาณเท่าไหร่
– คนเล่นมีประมาณกี่คน
– ต้องการเกมที่เล่นแบบเผชิญหน้ากัน หรือช่วยกันเล่นดี
– ต้องการใช้เวลาเล่นครั้งละเท่าไหร่ กี่นาที กี่ชั่วโมง
– ต้องการเกมที่ซับซ้อนมากแค่ไหน
หากมีคำตอบให้กับคำถามประมาณนี้แล้ว ก็สามารถพูดคุยสอบถามกับ Game Master ได้เลย คุณก็น่าจะมีตัวเลือกให้ตัดสินใจได้แล้ว