ในชีวิตการทำงานของเรา เราอาจจะมีโอกาสได้เข้าไปทำงานใน “ธุรกิจครอบครัว” หรือครอบครัวของเราอาจจะมีธุรกิจซึ่งเปิดโอกาสให้เราสามารถใช้ความรู้ความสามารถในการเข้าไปช่วยงาน เป็นผู้บริหารรุ่นถัดไปก็ได้ วันนี้ Factsheets จึงจะพาทุกท่านไปรู้จักกับโมเดลธุรกิจครอบครัว ว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง การเติบโตในช่วงต่าง ๆ เป็นอย่างไร รวมถึงจะพาไปรู้จักกับระบบกงสี และธุรกิจครอบครัวในโลกตะวันตกที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ใครเป็นใคร ในธุรกิจครอบครัว
เรามาเริ่มกันที่โมเดลธุรกิจก่อน นั่นคือโมเดลวงกลมสามวง หรือ Three-circle model of family business
โมเดลธุรกิจครอบครัวแบบสามวง ถูกพัฒนาขึ้นที่ Harvard Business School โดยศาสตราจารย์ Renato Tagiuri และ John A. Davis ในปี ค.ศ.1970 ซึ่งโมเดลนี้ได้อธิบายระบบธุรกิจครอบครัวเพื่อช่วยให้เราเข้าใจลักษณะสำคัญของธุรกิจ กลุ่มเจ้าของ และอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจ ปัจจุบันโมเดลสามวงเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในการทำความเข้าใจระบบธุรกิจครอบครัวทั่วโลก
โมเดลนี้ได้แบ่งกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ หุ้นส่วน ครอบครัว และธุรกิจ โดยทั้ง 3 กลุ่มก็จะมีความทับซ้อนกันจนแยกย่อยเกิดเป็น 7 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้ เริ่มจากกลางบน ตามเข็มนาฬิกา
1. คนภายนอกที่เป็นหุ้นส่วนของธุรกิจ แต่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจ
2. คนภายนอกที่เป็นหุ้นส่วนของธุรกิจ และทำงานในธุรกิจด้วย
3. พนักงาน ไม่ได้มีหุ้น และไม่ใช่คนในครอบครัว
4. คนในครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจ แต่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น
5. คนในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้ถือหุ้น
6. คนในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงาน แต่ถือหุ้น
7. คือตรงกลาง เป็นทั้งคนในครอบครัว เป็นผู้ถือหุ้น และทำงานด้วย
โดยคนทั้ง 7 กลุ่ม มีทั้งสถานะ โอกาสในการเจริญเติบโต ผลตอบแทน และมุมมองต่อธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นหากเราต้องการจะรู้โอกาสที่ใครสักคนจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร และอะไรที่คนแต่ละคนให้ความสำคัญ ลองเทียบคน ๆ นั้นกับโมเดลนี้ดู ก็อาจจะได้เห็นแนวทางและเข้าใจจุดยืนของคน ๆ นั้นในธุรกิจครอบครัวได้มากขึ้น
เมื่อเวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน
เมื่อเวลาผ่านไป บทบาท อำนาจ หน้าที่ และผลประโยชน์ของคนทั้ง 7 กลุ่ม ก็จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยแบ่งเป็นยุคด้วยช่วงเวลาต่าง ๆ ตามการขยายตัวและการเปลี่ยนรุ่นของครอบครัว เรียกว่า The family business ownership life cycle ตามลำดับดังนี้
รุ่นที่ 1 เจ้าของบริหารเอง – เป็นช่วงเวลาของการก่อตั้งธุรกิจ ซึ่งมีหัวหน้าครอบครัว (จะเป็นพ่อหรือแม่ก็ได้) ของครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจ
รุ่นที่ 2 หุ้นส่วนเป็นพี่น้องกัน – เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่าน ทายาทของผู้บริหารรุ่นที่ 1 จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจ ไม่ว่าใครจะถือหุ้นมากบ้างน้อยบ้าง และอาจจะมีทั้งคนที่ทำงานและไม่ได้ทำงานในธุรกิจของครอบครัว
รุ่นที่ 3 ธุรกิจเครือญาติ – เมื่อถึงรุ่นนี้ การถือหุ้นก็จะถูกเปลี่ยนผ่านไปถึงยุคที่ผู้ถือหุ้นมีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้อง ลุงป้าน้าอา ในที่สุด
การทำความเข้าใจกับ The family business ownership life cycle จะทำให้เรารู้ที่มาที่ไปของสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจครอบครัวกำลังเผชิญ รวมถึงสามารถใช้ในการวางแผนดำเนินธุรกิจในอนาคตของลูกหลานได้อย่างมั่นคงด้วย
กงสีที่เราเคยได้ยิน เป็นยังไงนะ
ในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางของชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อชาวจีนสามารถลงหลักปักฐานทำธุรกิจได้สำเร็จ เราก็มักจะเห็นว่ามีการนำระบบกงสีมาใช้เพื่อบริหารความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัว
คำว่ากงสี หรือ 公司 ถ้าอ่านเป็นภาษาจีนกลางจะอ่านว่า กงซือ แปลว่า “บริษัท” ดังนั้นจะเรียกว่ากงสีก็คือนิติบุคคลที่มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัว ในรูปแบบ Holding Company ก็ไม่ผิดนัก แนวคิดเรื่องกงสีก็คือการรวบรวมลูกหลานของครอบครัวให้ยังคงอยู่รวมกัน ช่วยเหลือพึ่งพากันและกัน ช่วยกันทำมาหากินด้วยการทำธุรกิจกลางของครอบครัว โดยมีผู้นำครอบครัวคนหนึ่งเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด มีเงินกองกลางเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัว เป็นทุนการศึกษา และเป็นค่าตอบแทนตามแต่ที่ผู้นำจะจัดสรร
กงสีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือธุรกิจจะตกทอดรุ่นสู่รุ่น ทำให้ลูกหลานถัด ๆ ไปมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ขยายกิจการได้หากมีจำนวนคนในครอบครัวร่วมมือกัน แต่ก็มีข้อเสีย เช่น หากแตกความสามัคคี ไม่ซื่อสัตย์ มีการเอารัดเอาเปรียบและไม่เป็นธรรม ความเสื่อมของธุรกิจก็จะมาถึง
ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกมีอะไรบ้าง
ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ก็มีธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่นอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น
– Samsung ก่อตั้งเมื่อปี 1969 ที่เมืองซูวอน เกาหลีใต้ โดย อีพยองชอล อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันประธานของ Samsung คือทายาทรุ่นที่ 3 คือ อีแจยอง
– Walmart ก่อตั้งเมื่อปี 1962 โดย Sam Walton ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 3 ก็ยังคงความร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของรัฐอิลลินอยส์ นั่นก็คือ Lukas Walton
– Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งข้ามชาติ สัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1839 ในชื่อ Valley Falls Company โดยบริษัทนี้เป็นของตระกูล Buffett ซึ่งซีอีโอคนปัจจุบันก็คือคุณปู่ Warren Buffett นั่นเอง (คุณปู่เป็นรุ่น 2 และปัจจุบันมีถึงรุ่น 4)
– Toyota ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1937 โดยคิอิจิโร โทโยดะ ปัจจุบันประธานกรรมการบริหารคือทายาทรุ่นที่ 3 ของคิอิจิโร นั่นคือ อากิโอะ โทโยดะ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของธุรกิจครอบครัว ซึ่งสามารถสร้างความมั่งคั่งในอนาคตระยะยาวให้กับทายาทรุ่นถัด ๆ มา มีความแข็งแกร่ง และน่าสนใจที่จะเรียนรู้ไว้ เป็นประโยชน์ไม่ว่าเราจะมีโอกาสเข้าไปทำงานในธุรกิจครอบครัว มีลูกค้าเป็นธุรกิจครอบครัว หรือไม่แน่ว่า ธุรกิจของคุณอาจจะสามารถสร้างความมั่นคงระยะยาว เป็นธุรกิจครอบครัวอีกแห่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ที่มา
https://www.ifb.org.uk/resources/for-owners/understanding-family-business/
https://www.tharawat-magazine.com/top-10-largest-family-businesses-in-the-world/