Factsheets เชื่อว่าหลังจากว่าที่พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นขายอะไรสักอย่างบนโลกออนไลน์ แต่ละรายก็จะเลือกวิธีการขายหลักของตัวเองต่าง ๆ กันออกไป บางรายอาจจะถนัดขายบนโซเชียลมีเดีย บางรายอาจจะใช้แพลตฟอร์มขายสินค้า และบางรายอาจจะทำเว็บไซต์ e-Commerce ขึ้นมาเองซะเลย
วันนี้ Factsheets จะพามาดูกัน ว่าช่องทางการขายแต่ละช่องทางมีข้อดี ข้อสังเกต เป็นอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรคำนึงถึง
ขายบน Facebook หรือโซเชียลมีเดีย
เรามาเริ่มกันที่ Facebook ก่อนเลย โดยเราอาจนับได้ว่าเป็นโซเชียลมีเดียมาตรฐานไม่ว่าจะขายสินค้า หรือสร้างความรู้จักให้กับธุรกิจบริการ
สำหรับ Facebook นั้น ข้อดีก็คือไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในตอนเริ่มต้น โดยเราสามารถขายสินค้าได้ทั้งจากการโพสต์บนหน้าโปรไฟล์ของเราตามปกติ หรือจะสร้างเพจแยกสำหรับแบรนด์หรือร้านค้า หรือเราอาจจะขายผ่านส่วนที่เรียกว่า Marketplace ของ Facebook ด้วยก็ได้
และหากเราต้องการให้โพสต์ขายสินค้าของเราไปถึงกลุ่มเป้าหมาย Facebook ก็ยังมีบริการโฆษณา โดยการโฆษณาบน Facebook เรียกได้ว่าเป็นศาสตร์และศิลป์อีกแขนงหนึ่งก็ว่าได้ เพราะต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจทั้งสินค้าและพฤติกรรมของลูกค้าเรา รวมถึงยังมีเทคนิคต่าง ๆ มากมาย เช่น การติดตามพฤติกรรมลูกค้าด้วย Pixel โดยเชื่อมต่อเข้ากับเว็บไซต์หรือหน้าเว็บขนาดเล็ก (Landing Page หรือ Sale Page) เพื่อทำโฆษณาแบบ Conversion ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการลงโฆษณา
ปัจจุบันเราก็จะเห็นว่า ผู้ขายสินค้าบน Facebook ต่างพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า ทั้งการถ่ายทอดสดแล้วใช้ระบบอัตโนมัติในการประมวลผลคำสั่งซื้อ หรือการผลิตคอนเทนท์ที่เป็น Viral ก็มีให้เห็นได้บ่อย ๆ
ส่วนโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ก็มีความสามารถในการขายสินค้าเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Twitter หรือ TikTok โดยแต่ละโซเชียลมีเดียก็จะมีวิธีการทำการตลาดที่แตกต่างออกไปตามรูปแบบเนื้อของของแพลตฟอร์มนั้น ๆ และก็เป็นธรรมดาที่ใครก็สามารถขายของแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แบบง่าย ๆ ทำให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้ออาจจะเกิดความไม่เชื่อใจกันและกัน เพราะไม่ได้มีตัวกลางในการรับชำระเงินหรือจัดส่งสินค้า ต้องอาศัยความไว้วางใจและการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยระยะเวลาและความเสมอต้นเสมอปลายพอสมควรเลยทีเดียว
ขายบนแพลตฟอร์ม e-Commerce โดยเฉพาะ
แพลตฟอร์ม e-Commerce มีข้อดีมากขึ้นกว่าโซเชียลมีเดีย นั่นคือการมีบริการรองรับมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่บริการขนส่งสินค้าซึ่งทำให้ผู้ขายมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการซื้อสินค้าเกิดขึ้น ผู้ขายก็จะสามารถดึงข้อมูลจัดส่งจากระบบมาพิมพ์แล้วติดไปกับหีบห่อได้เลย หรือบางทีก็มีบริการไปรับสินค้าถึงบ้านผู้ขาย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปส่งสินค้าที่จุดรับ ไปจนถึงการมีช่องทางการชำระเงินหลายวิธีให้ลูกค้าเลือก ทำให้ลูกค้ามีโอกาสที่จะตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต โอนเงิน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อว่าโอกาสถูกโกงจะลดลง
ปัจจุบันบางแพลตฟอร์ม e-Commerce เริ่มที่จะมีระบบลงโฆษณาเพื่อโปรโมทสินค้าเพิ่มเข้ามาแล้ว ทำให้ผู้ซื้อสามารถมองเห็นสินค้าได้ดียิ่งขึ้น และแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มต่างกันออกไป รวมถึงค่าธรรมเนียมชำระเงิน ซึ่งผู้ขายจะต้องคำนวณต้นทุนเหล่านี้ให้ละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับสินค้าของเรามากที่สุด
ขายผ่านคนอื่นทำไม ทำเว็บเองเลยแล้วกัน
การทำเว็บเองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ขายสามารถเลือกใช้ได้ ข้อดีของการขายสินค้าบนเว็บไซต์ของตัวเองก็คือความมีอิสระในการออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ การควบคุมทิศทางการสื่อสาร การไม่ถูกจำกัดจำนวนหรือประเภทของสินค้า การเลือกช่องทางการชำระเงิน (Payment Gateway) ต่าง ๆ ได้เอง ซึ่งจากที่ Factsheets สำรวจคร่าว ๆ พบว่า ผู้ขายสินค้าไทยที่ทำเว็บขายสินค้าของตัวเองมักจะเป็นร้านขนาดใหญ่ที่มีสินค้าจำนวนมากหลากหลายรูปแบบ หรือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า เครือร้านค้าปลีก
แต่ข้อเสียของการทำเว็บขึ้นมาเองก็มีเช่นกัน ตั้งแต่ระยะเวลาในการออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบ อีกทั้งต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในการพัฒนาเว็บ ไม่ว่าจะเป็น WordPress + WooCommerce หรือ Shopify ก็ต้องทำการจดโดเมน เช่าพื้นที่เว็บโฮสติ้ง ติดตั้งเอง หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องจ้างนักพัฒนามารับงานเป็นงาน ๆ ไป ซึ่งเรทราคาปกติจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท มีความเสี่ยงในด้านการถูกโจมตีทางไซเบอร์ นอกจากนั้นแล้วการทำเว็บขึ้นมาเองก็ต้องอาศัยเงินทุนหรือระยะเวลาในการทำให้เว็บเป็นที่รู้จัก ทั้งจากผู้ซื้อและระบบค้นหาต่าง ๆ (Search Engine) เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ
สรุป
ในการเริ่มต้นขายสินค้าใด ๆ ก็ตาม เราอาจจะเลือกช่องทางได้มากกว่า 1 ช่องทางก็ได้ เพื่อให้ช่องทางสื่อสารต่าง ๆ มีโอกาสไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ โดยต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจขายสินค้าคือการลงทุน และต้องอาศัยความเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อประกอบการตัดสินใจที่รอบคอบ ก่อนที่จะเริ่มลงมือ