หลังจากที่มีรายงานว่า ซิตี้กรุ๊ป มีแผนจะยุติบริการทางการเงินในระดับคอนซูเมอร์ในหลายประเทศ ออสเตรเลีย บาห์เรน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศไทย โดยจะเปลี่ยนไปมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าด้านบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) และลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินเป็นหลักแทน
วันนี้ Factsheets จะพาทุกท่านย้อนไปรู้จักกับ ซิตี้กรุ๊ป กัน ว่ากลุ่มบริษัทการเงินชั้นนำของโลกที่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมานานมากกว่า 200 ปีแห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และแนวโน้มทิศทางที่จะเกิดขึ้นถัดไปมีอะไรบ้าง
จุดเริ่มต้นของ Citi
กลุ่มสถาบันการเงิน Citi เริ่มต้นขึ้นที่นิวยอร์ค โดยก่อตั้งเป็นธนาคารชื่อว่า City Bank of New York ตั้งแต่ปี ค.ศ.1812 (หรือ พ.ศ. 2355) ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีอายุถึง 209 ปีแล้ว โดยปัจจุบันถือเป็น 1 ใน 4 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา ร่วมกับ JPMorgan Chase, Bank of America และ Wells Fargo
ในปี 2019 Citi มีบัญชีลูกค้ามากถึง 200 ล้านบัญชี ใน 160 ประเทศ มีพนักงานมากกว่า 2 แสนคน และในปี 2020 Citi มีสินทรัพย์รวม 23.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
Citi ในประเทศไทย
ซิตี้แบงก์ เข้ามาดำเนินกิจการด้าน Wealth and Investment ในไทยตั้งแต่ปี 2510 และขยายมาทำธุรกิจสินเชื่อในปี 2522 ในรูปแบบสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) จนถึงปี 2528 จึงได้รับใบอนุญาตประกอบการพาณิชย์ในระบบสาขาการธนาคาร และจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยให้บริการทั้งเงินฝาก บัตรเครดิต สินเชื้อส่วนบุคคล การบริหารความมั่งคั่ง
จากที่ Factsheets ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าบัตรเครดิตทั่วไปบนสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าลูกค้าที่ประทับใจ ซิตี้แบงก์ จำนวนมากจะประทับใจในด้านการให้บริการที่รวดเร็ว เช่น การนำระบบจำเสียงทางโทรศัพท์มาใช้ช่วยในการยืนยันตัวตน การไม่มีสมุดบัญชี การให้บริการผ่านออนไลน์และสมาร์ทโฟนที่มีมาก่อนอย่างยาวนาน โดย ซิตี้แบงก์ ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในไทยที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง
จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Jane Fraser ซีอีโอที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียงเดือนเศษ ๆ ของ ซิตี้กรุ๊ป ซึ่งเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของธนาคารยักษณ์ใหญ่ในวอลล์สตรีท ได้ประกาศแผนการยกเลิกธุรกิจในกลุ่มลูกค้ารายย่อยใน 13 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยนายทีบอร์ พานดิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ซิตี้แบงก์ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานในประเทศไทยในทันที และไม่มีผลกระทบต่อพนักงานอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดย ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ยังคงพร้อมให้บริการลูกค้าด้วยความเอาใจใส่และความทุ่มเทเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด
สำหรับการปรับเปลี่ยนโอนย้ายพอร์ตของสถาบันการเงินในไทยที่เกี่ยวข้องกับ ซิตี้แบงก์ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งใหญ่ ๆ คือ ในปี 2559 ซิตี้แบงก์ ได้รับโอนธุรกิจบางส่วนจากธนาคาร Standard Chartered ในส่วนที่เป็นลูกค้ารายย่อยจำนวน 200,000 บัญชี มูลค่าทรัพย์สินรวม 3.6 หมื่นล้านบาท พร้อมสาขาและพนักงานมาแล้ว และในปี 2561 ก็ยังได้รับโอนพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิตจากธนาคาร TISCO จำนวน 132,000 ราย มีมูลค่าสินเชื่อ 5.7 พันล้านบาท
อนาคตของ Citi ในไทย
ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหลักทรัพย์ในไทยหลายแห่งได้เริ่มวิเคราะห์ถึงสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร ที่มีศักยภาพในการเข้ามารับช่วงต่อกลุ่มลูกค้าที่มีความแข็งแกร่ง โดยกรณี บล.เคทีบีเอสบี ประเมินว่าธนาคารที่มีศักยภาพในการซื้อกิจการครั้งนี้มากที่สุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จากการที่มีเงินสดที่ได้รับหลังจากที่ขายหุ้นไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) ให้กับกลุ่ม FWD เมื่อปี 2562 ตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารกรุงเทพ ตามลำดับ
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก บล.เคทีบีเอสบี ยังมองว่าทั้งธนาคารและสถาบันการเงินในไทยจะได้รับผลบวกจาก Strategic move ของ ซิตี้แบงก์ ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่หุ้นของธนาคารจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากซื้อกิจการมาแล้ว หรือลูกค้า ซิตี้แบงก์ บางส่วนอาจตัดสินใจย้ายไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดรายอื่น ๆ
ที่มา
https://www.bbc.com/news/business-56755610
https://www.thebalance.com/the-big-4-us-banks-315130
https://www.ktbst.co.th/uploads/file/Bank_Finance_210416_NF_KTBST.pdf