fbpx

6 วิธีเพิ่มพลังความจำให้สมอง – Factsheet No.72

ในทุกเช้าวันจันทร์ ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะทำงานที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นจนเป็นกิจวัตรนั่นก็คือภาระงานที่ถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นงานต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว และงานใหม่ ๆ ที่ได้รับมอบหมายในสัปดาห์ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น และแน่นอน ความยุ่งเหยิงของงานเหล่านั้นก็อาจจะมากเกินขีดจำกัดที่สมองของคนเราจะบริหารจัดการได้ การหลงลืมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

วันนี้ Factsheets จึงมีเทคนิคดี ๆ ที่จะสามารถช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจวิธีการทำงานเกี่ยวกับความจำของสมอง และวิธีการที่จะทำให้สมองสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น ก่อนอื่นเราต้องไปดูกันก่อนว่าสมองของคนเรามีระบบการทำงานของความจำอย่างไร

กระบวนการความจำของสมอง

สมองของคนเรามีกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความจำอยู่ 3 สิ่ง ได้แก่

กระบวนการที่ 1 การสร้างความทรงจำ (Creating a memory)

กระบวนการนี้จะเกิดขึ้น เมื่อเราได้รับข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่าง ๆ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส สมองจะทำการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทของเรา การเชื่อมต่อเหล่านี้เรียกว่า จุดประสานประสาท (synapse)

กระบวนการที่ 2 การรวมกลุ่มความทรงจำ (Consolidating the memory)

จะเป็นขั้นตอนที่สมองทำการจัดเก็บความทรงจำแต่ละเรื่องเข้าด้วยกันเป็นความทรงจำระยะยาว โดยเฉพาะความทรงจำเรื่องที่เราไม่ค่อยได้นำมาใช้ เพื่อให้เราสามารถนำมาใช้ได้ในภายหลัง โดยกระบวนการนี้จำนวนมากจะเกิดขึ้นในขณะที่เรากำลัง “นอนหลับ” โดยสมองจะทำการสร้างรูปแบบ (pattern) ของจุดประสานประสาทขึ้นมาใหม่อย่างเป็นระบบ

กระบวนการที่ 3 การเรียกใช้ความทรงจำ (Recalling the memory)

กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิด พูด หรือตระหนักขึ้นได้ว่าเราหลงลืมความทรงจำบางอย่างไป โดยการเรียกความทรงจำขึ้นมาจะยิ่งง่ายและเร็วหากเรามีประสบการณ์กับเรื่องนั้น ๆ บ่อย ๆ จะทำให้สมองสร้างรูปแบบการจัดเก็บความทรงจำที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องนั้น ๆ

จะเพิ่มความสามารถในการจำได้อย่างไร ?

มีหลายเหตุผลที่คนเราจะหลงลืมความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับข้อมูลที่มากเกินไปในระยะเวลาสั้น ๆ หรือการหลงลืมที่เป็นปกติจากความชราก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขหรือชลออาการหลงลืมได้ ขั้นตอนที่เรานำมาฝากกันในวันนี้คือขั้นตอนที่เราทุกคนสามารถทำได้ เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ดีและยาวนานมากที่สุด

1. ทำสมาธิ

ความทรงจำของสมองทำหน้าที่คล้าย ๆ กระดาษโน้ตของสมอง ซึ่งจะจดบันทึกข้อมูลใหม่เอาไว้ชั่วคราว เช่น เราจำชื่อเพื่อนร่วมงานคนใหม่ การได้ยินชื่อเพลงใหม่ การจำรหัสผ่านไวไฟ โดยในช่วงแรกเราจะจำมันได้จนกว่าจะได้นำมาใช้งานเสร็จสิ้นจนหมดประโยชน์ สมองก็จะปล่อยมันทิ้งไป แต่หากเรามีประสบการณ์กับความทรงจำนั้น ๆ มากพอ สมองก็จะนำไปจัดเก็บเป็นความทรงจำระยะยาวเพื่อให้เรียกขึ้นมาทีหลังได้ โดยธรรมชาติสมองในวัยทำงานจะเก็บความทรงจำระยะสั้นไว้ได้ประมาณ 7 เรื่อง และการทำสมาธิก็เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้ทั้ง 7 เรื่องนี้ถูกจัดเก็บเป็นความทรงจำระยะยาว จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า หากเปรียบเทียบผู้เข้าร่วมที่ทำสมาธิกับไม่ได้ทำ จะเห็นผลได้ชัดเจนว่าภายใน 8 สัปดาห์ คนที่ทำสมาธิจะมีความทรงจำที่ดียิ่งขึ้น และหลังจากทำสมาธิ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ก็จะสามารถจดจำได้ง่าย

2. ดื่มกาแฟ

คาเฟอีกมีผลเล็กน้อยหากร่างกายได้รับก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้และรับข้อมูลใหม่ ๆ แต่หากร่างกายได้รับคาเฟอีกหลังจากได้รับข้อมูลไปแล้ว ผลการศึกษาพบว่าสามารถเพิ่มความทรงจำได้จริงภายใน 24 ชั่วโมงต่อมา สะท้อนให้เห็นถึงการจัดเก็บรักษาความจำในระดับที่ลึกขึ้น

3. กินผลไม้ประเภทเบอร์รี่

จากการศึกษาของ University of Reading และ Peninsula Medical School พบว่าการเสริมอาหารด้วยบลูเบอร์รี่เป็นเวลา 12 สัปดาห์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของความทรงจำได้ โดยจะเริ่มเห็นผลใน 3 สัปดาห์ และต่อเนื่องไปตลอดระยะเวลาของการศึกษา โดยบลูเบอร์รี่มีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งสามารถเสริมสร้างจุดประสานประสาทในสมองได้ (มีการศึกษาในสตรอว์เบอร์รี่ด้วย แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากปริมาณที่ต้องกินต่อวันนั้นเยอะกว่าบลูเบอร์รี่มาก)

4. ออกกำลังกาย

การศึกษาทั้งในสมองของหนูและมนุษย์พบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถทำให้ความจำดีขึ้นได้ รวมถึงสำหรับผู้สูงอายุได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยชะลออาการหลงลืมความจำได้เป็นอย่างดี โดยนอกจากเรื่องความจำแล้ว สมองของคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีความสามารถในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ สูงขึ้น

5. เคี้ยวหมากฝรั่ง

จากการศึกษาบางแห่งพบว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ออกซิเจนใหลเวียนไปยังสมองเพิ่มมากขึ้น ทำให้สมองสามารถโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

6. นอนหลับ

จากที่เราได้พูดถึงกระบวนการที่ 2 การรวมกลุ่มความทรงจำ (Consolidating the memory)ด้านบน ส่วนมากมักเกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนแบบยาว ๆ และการงีบหลับสั้น ๆ ก็ทำให้ความทรงจำดียิ่งขึ้น จากการศึกษาโดยให้ผู้เข้าร่วมจดจำไพ่ชุดหนึ่งเป็นเวลา 40 นาที พบว่า กลุ่มที่งีบหลับสามารถจดจำไพ่ได้ 85% ขณะที่กลุ่มที่ยังตื่นอยู่จำไพ่ได้เพียง 65% เท่านั้น โดยการนอนหลับนอกจากจะช่วยเรื่องความทรงจำ ยังช่วงให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างความสดชื่นและพละกำลังที่จะทำให้เราใช้ชีวิตในวันถัดไป หรือหลังจากที่เราตื่นขึ้นมาได้ดีอีกด้วย

ที่มา
https://buffer.com/resources/6-research-tested-ways-to-improve-your-memory/