fbpx

เปิดไม้เด็ด เทคโนโลยี 5G – Factsheet No.11

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

ประเทศไทยเริ่มใช้งาน 5G มาเป็นเวลาครบ 1 ปี พอดี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 63 ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ทราบกันดีในเรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ต ว่า 5G สามารถทำความเร็วได้มากถึง 20 กิกะบิตต่อวินาที แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ไม้เด็ดจริง ๆ ของ 5G นอกจากเรื่องความเร็วในการรับส่งข้อมูล ก็คือค่าการตอบสนองต่อการรับส่งสัญญาณ หรือก็คือ Latency ที่ทำได้ถึงระดับน้อยกว่า 1 มิลลิวินาที หรือ 0.001 วินาที ซึ่งถือว่าเร็วมาก อีกทั้งยังมีระยะครอบคลุมพื้นที่กว้าง

แต่ช้าก่อน ข้อดีต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้รวมอยู่ใน 5G แบบเดียว เพราะเครือข่าย 5G มีความแตกต่างจากระบบเซลลูลาร์เดิม ๆ อยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือการใช้คลื่นความถี่ที่หลากหลายมาก และแต่ละช่วงความถี่ (Band) ก็มีข้อดี ข้อเสีย วัตถุประสงค์ในการใช้งานต่างออกไป แต่ละ Band เป็นอย่างไรบ้าง เรามาดูกัน

ช่วงความถี่ต่ำ (Low Band)
คลื่นความถี่ต่ำของ 5G จะมีความถี่ไม่เกิน 1 GHz ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ได้เป็นรัศมีสูงถึง 32 กิโลเมตร จากเสาส่งสัญญาณ
ในด้านความเร็ว จะมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 150 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งมากกว่า 4G อยู่ไม่มาก โดย Low Band และค่าการตอบสนองต่อสัญญาณจะช้าที่สุดในบรรดาคลื่น 5G ทั้งหมด คืออยู่ที่ประมาณ 10 มิลลิวินาที
Low band มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง IoT ในรูปแบบเครือข่ายระยะไกลแต่ใช้พลังงานต่ำ (Low Power Wide Area Network : LPWAN)

ช่วงความถี่ปานกลาง (Mid Band)
ช่วง Mid Band จะมีความถี่ตั้งแต่ 1 – 7 GHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้ 8-16 กิโลเมตร จากเสาส่งสัญญาณ โดยทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลได้สูงสุดถึง 900 เมกะบิตต่อวินาที

ช่วงความถี่สูง (High Band)
ช่วงความถี่สูง จะใช้ความถี่ตั้งแต่ 24 GHz ขึ้นไป จะครอบคลุมพื้นที่ได้เพียงประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ในด้านความเร็วสามารถทำได้สูงถึงระดับ 20 กิกะบิตต่อวินาที และมีค่าการตอบสนองที่ต่ำมากถึง 1 มิลลิวินาทีเท่านั้น

ในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการในประเทศไทยได้รับใบอนุญาตแล้วทั้ง 3 ช่วงความถี่ โดยอย่างเร็วสุดคือปลายปีนี้ จะมีการเปิดประมูลคลื่น 3.5 GHz หลังจากหมดอายุสัมปทานดาวเทียมในเดือนกันยายน