วันนี้ Factsheets จะขอมาเล่าให้ฟังสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับแนวทางหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปทดสอบใช้ พิสูจน์ความต้องการ หรือส่งมอบได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือแนวคิดแบบ MVP (Minimum Viable Product) ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ ผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำที่สุดที่สามารถใช้งานได้
คำว่า MVP ถูกใช้ครั้งแรกโดย Frank Robinson ในปี 2001 โดยจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานความสามารถหลัก (Function) ได้ก่อนในระยะแรก เพื่อให้เจ้าของสามารถทดสอบความถูกต้องของแนวคิดในวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยตัดขั้นตอนการทำงาน ลดระยะเวลา ลดการใช้กำลังคน รวมไปทุนต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อนำผลการทดสอบมาปรับปรุงก่อนที่จะเพิ่มเติมความสามารถประกอบ (Feature) ต่าง ๆ เสริมเข้าไปภายหลัง
———————–
ทำไมต้อง MVP
———————–
1. MVP สามารถปล่อยออกสู่ตลาดได้เร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานแบบเร่งด่วน
2. MVP สามารถใช้ทดสอบกับผู้ใช้งานได้จริงก่อนที่จะทุ่มงบประมาณไปกับการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ
3. MVP สามารถทดสอบความต้องการของตลาดและกลุ่มเป้าหมายได้ เพื่อให้รู้ว่าตรงใจตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายแค่ไหน
โดยส่วนใหญ่แล้ว เหตุผลที่จะทำ MVP มักจะเป็นการทดสอบ ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ใช้การได้ดีจริงหรือไม่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในด้านเงินทุน กำลังคน และเวลา
ภาพจำของคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจ MVP ในลักษณะเปรียบเปรย เมื่อเทียบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบเดิม ๆ ก็คือการสร้างรถยนต์ขึ้นมาหนึ่งคัน…
หากพัฒนาแบบดั้งเดิม ก็จะเป็นการค่อย ๆ ทยอย แยกพัฒนาชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน จึงค่อยทำการทดสอบ
แต่หากเป็น MVP หากต้องการสร้างยานรถยนต์ ก็จะค่อย ๆ พัฒนาไล่จากสเก็ตบอร์ด จักรยาน มอเตอร์ไซค์ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นรถยนต์ ซึ่งยึดหลักการว่าผลิตภัณฑ์จะต้องสามารถใช้การได้ในทุกระยะเวลาของการพัฒนา ก็เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นจะตรงใจผู้บริโภคหรือไม่นั่นเอง
——————————————–
การประยุกต์ใช้ MVP ในด้านอื่น ๆ
——————————————–
นอกจากจะใช้หลักการ MVP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีการนำแนวคิดของ MVP ไปใช้ในด้านอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น Minimum viable brand แบรนด์ขั้นต่ำที่สามารถใช้งานได้ คือการสร้างแบรนด์โดยค่อย ๆ ทดสอบในเชิงกลยุทธ์เพื่อหาความต้องการเชิงลึก (Insight)
ในด้านการสร้างทีมก็เช่นกัน สำหรับสตาร์ทอัพ ก็อาจใช้หลักการ Minimum viable co-founder เพื่อหาคนร่วมอุดมการณ์ หรือ Minimum viable team เพื่อหาคนมาร่วมทำงานในจำนวนน้อยที่สุด ที่สามารถมาลงมือทำงานบางสิ่งบางอย่างได้
———————————
ข้อสังเกตและความเสี่ยง
———————————
ในเมื่อเพจเราคือ Factsheets ดังนั้นจะพูดข้อดีอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ เป็นธรรมดาที่ทุกสิ่งมีข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเอง
จากงานวิจัยต่าง ๆ ในบางครั้งก็จะพบว่าการเปิดตัวธุรกิจทั้ง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระยะ MVP นั้นอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายธุรกิจเสียเอง เพราะ MVP เป็นการพิสูจน์แนวคิดที่เน้นทำน้อย แต่ให้ผลลัพธ์ที่ใช้งานได้แล้ว จึงเสี่ยงมาก ๆ ที่จะถูกนำไปเลียนแบบและพัฒนาต่อยอดโดยคู่แข่งที่มีศักยภาพ มีเงินทุน รวมถึงการนำเสนอ MVP ไปก่อนก็อาจจะได้รับผลตอบรับเชิงลบกลับมามากจนเกินไป จนทำให้ชื่อเสียงของธุรกิจพลอยย่ำแย่ไปด้วยก็ได้ ดังนั้น MVP จึงไม่เหมาะในบริบทที่มีการแข่งขันสูง และต้องการปกปิดความลับทางการค้า
จากข้อเสียเหล่านี้เอง จึงทำให้เกิดการแตกแขนงแนวคิด MVP ออกไปเป็นแนวทางใหม่ ๆ เช่น
– Minimum Viable Experiment (MVE) เป็นการทดลองที่ออกแบบมาเพื่อทดลองไอเดียทางธุรกิจโดยเฉพาะ โดยเน้นไปในทางการสร้างประสบการณ์ที่คาดหวัง ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายไปด้วย
– Minimum Awesome Product (MAP) มาจากคิดบนฐานที่ว่า ไม่ใช่ว่าทุก MVP ที่ใช้การได้จะสามารถนำไปขายในตลาดจริงได้ ดังนั้นถึงแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำ แต่ก็ต้องพิสูจน์ความเจ๋งไปด้วยในตัว ซึ่งแม้จะใช้เวลาเพิ่ม แต่ความมั่นใจว่าจะขายได้ก็เพิ่มด้วยเช่นกัน
– Simple, Lovable, Complete (SLC) เกิดจากแนวคิดที่ว่า ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากใช้ผลิตภัณฑ์ในเวอร์ชันที่ผู้สร้างยังคงเหนียม ๆ อาย ๆ ด้วยความที่ยังเป็น MVP โดย SLC จะเน้นไปที่การตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ด้วยความง่าย Simple แต่ไม่ใช่ขั้นต่ำ (Minimum) แทนที่จะถามว่าความสามารถขั้นต่ำคืออะไร จะเปลี่ยนเป็นถามว่า งานนี้จะสมบูรณ์อย่างไร
——–
สรุป
——–
Factsheets หวังว่าคุณผู้อ่านที่กำลังอยากจะเริ่มลงมือพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดเป็นธุรกิจ จะเข้าใจแนวคิดของ MVP รวมถึงได้รับรู้ถึงแนวทางใหม่ ๆ อย่าง MVE, MAP และ SLC ข้อดีข้อเสีย ความแตกต่าง เพื่อนำไปปรับใช้ให้ขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคุณประหยัด ทุ่นแรง ลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และไม่เสียเวลารอให้ผลิตภัณฑ์คลอดออกมาแบบสมบูรณ์แล้วค่อยพิสูจน์ ถ้าเราไม่มีความพร้อมที่จะลงทุนในระดับนั้น กว่าจะถึงวันนั้น ความเสียหายก็อาจจะมากไปจนเราควบคุมไม่ได้เลยก็ได้