fbpx

Tuckman’s stages of group development – Factsheet No.61

ในแวดวงการศึกษาทั้งของไทยและโลกได้พูดถึงทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 มาพักใหญ่ ๆ แล้ว (และเราก็เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มา 21 ปีเต็มแล้วด้วย) แต่เราก็ยังไม่สามารถสร้างคนที่มีทักษะเต็ม 100 ได้ครบหมดในรวดเดียว

ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งของศตวรรษที่ 21 นั้นคือการทำงานเป็นทีม ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจจะคิดว่าหัวใจของการทำงานเป็นทีมคือความสามัคคี ซึ่งก็คงไม่ได้ผิดอะไร แต่ทำไมมันถึงเป็นนามธรรมนัก จับต้องได้ยากเหลือเกิน วันนี้ Factsheets จะนำหลักการพัฒนาทีมมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้รับทราบกัน เพราะการสร้างทีมไม่ได้เป็นแค่การสั่งให้คนมาจับกลุ่มกันทำนั่นทำนี่ หรือชี้จิ้มตัวคนที่มีความสามารถเหมาะสมมารวม ๆ กันแล้วสั่งงาน ชีวิตมันไม่ได้ง่ายแบบนั้นครับ

วันนี้เราจะมาพูดถึง Tuckman’s stages of group development หรือ โมเดลระยะการพัฒนากลุ่มของทัคแมน เพื่อให้ท่านผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน สมาชิกในทีม หรือโค้ชของทีม เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าการที่เราจะทำงานเป็นทีมให้ได้ผลสำเร็จนั้นมีระยะ (Stages) อะไรบ้าง แล้วในแต่ละระยะเราต้องทำอะไร เพื่อให้ได้ทีมที่มีความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

———————————-
ระยะ 1 จัดตั้ง (Forming)
———————————-

การเรียกกลุ่มคนว่าทีม ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเอาคนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น เพราะคนแต่ละคนมีทักษะ ประสบการณ์ ทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นในขั้นตอนของการสร้างทีมจึงต้องทำให้ทุกคนมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน มีโจทย์เดียวกัน หรือถ้าเป็นการแข่งขันก็ต้องมีคู่แข่งร่วมกัน
.
ระยะนี้อาจจะเริ่มกำหนดแนวทางการเข้าร่วมทีมแบบหลวม ๆ ขึ้นมาก่อน รวมถึงเริ่มมองหาตัวผู้นำทีมขึ้นมา เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลทีมต่อไปได้

————————————-
ระยะ 2 ฟาดฟัน (Storming)
————————————-

ด้วยความที่สมาชิกแต่ละคนมีความแตกต่างกันมาตั้งแต่ต้น เมื่ออยู่ด้วยกันไปสักพัก ผ่านช่วงที่เราอาจจะเรียกว่าช่วงฮันนีมูนไป ความเป็นตัวตนของแต่ละคนก็จะเด่นชัดขึ้น อะไรคือเคยแกล้งไม่รู้ไม่เห็นหรืออดทนมาตลอดก็จะเริ่มถึงขีดจำกัดในช่วงนี้ เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่กินเส้นกันขึ้นในทีม แต่ในขั้นตอนนี้ก็จะมีความเด่นชัดมากขึ้น ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบงานในส่วนไหน จากการแสดงออกที่ผ่าน ๆ มา
.
ระยะฟาดฟันเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อคน 2 คนขึ้นไปมาอยู่ร่วมกัน ในชีวิตปกติก็เช่นกัน ไม่ว่าจะคนรัก กลุ่มเพื่อนในโรงเรียนแห่งใหม่ กลุ่มเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานใหม่ ไม่ช้าก็เร็วจะต้องเกิดขึ้น ดังนั้นการทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่ามันจะต้องเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ (ถ้าระยะนี้ไม่เกิดขึ้นกับทีมนับว่าน่ากลัวกว่ามาก) โดยการจะไปต่อจากระยะนี้ก็คือการสร้างความชัดเจนในทีม การมีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน โดยหัวหน้าทีมหรือผู้ดูแลจะต้องเป็นคนช่างสังเกต หากมีแนวโน้มการทะเลาะเบาะแว้งกินเกาเหลาขึ้น ต้องรีบเคลียร์ให้ชัด อย่าให้สิ่งปกติที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้บานปลาย

———————————————-
ระยะ 3 สร้างบรรทัดฐาน (Norming)
———————————————-

หากทีมสามารถผ่านระยะที่ 2 มาได้ ก็จะเกิดความสามัคคีขึ้นในระดับหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะหมดไป แต่ทีมจะสามารถไปต่อได้แม้จะมีความแตกต่างและความขัดแย้งก็ตาม ก็ด้วยการที่ทีมมีข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน มีพื้นที่แสดงออกอย่างชัดเจน และไม่มีการปะทุกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น
.
ในระยะนี้สมาชิกในทีมจะต้องปรับตัวเข้าร่วมกันให้ลื่นใหลมากขึ้น รวมถึงจังหวะการทำงานที่ต้องสอดรับกัน โดยที่ทุกคนจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันให้ได้จริง ๆ โดยระยะนี้จะต้องมีผู้นำทีมตัวจริงเกิดขึ้นได้แล้ว

—————————————–
ระยะ 4 ลงมือทำ (Performing)
—————————————–

เป็นระยะที่ทีมสามารถลงมือทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เรียกได้ว่ารู้มือกันหมดแล้ว มีปัญหาเกิดขึ้นก็จะช่วยกันหาหนทางแก้ไขไปตามบทบาทหน้าที่
.
ในระยะนี้เป็นระยะที่การเข้า-ออกของคนในทีมแต่ละครั้งจะไม่สร้างปัญหาเหมือน 3 ระยะแรก เพราะคนที่เข้ามาใหม่จะเห็นความชัดเจนของคนที่อยู่มาก่อน และสามารถปรับตัวเข้ากับมาตรฐานใหม่ได้แบบไม่ยากมากนัก โดยทีมก็จะสามารถบริหารจัดการตัวเองในการทำงานแต่ละอย่างได้เป็นอย่างดี

—————————————–
ระยะ 5 แยกย้าย (Adjourning)
—————————————–

ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา ระยะนี้จะเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ของแต่ละทีม เมื่อทีมสามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมาย องค์กรก็อาจจะต้องทำการดึงสมาชิกแต่ละคนในทีมไปรับผิดชอบงานในทีมใหม่ก็ได้
.
โดยหากทีมใดเข้าสู่ระยะนี้ สิ่งหนึ่งที่ดีที่สุดหากมีโอกาสและเวลาที่เหมาะสมก็คือการพากันทบทวนหลังการทำงาน (After Action Review : AAR) เพื่อถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้น ปัญหาข้อผิดพลาดระยะช่วงที่เคยทำงาน และแนวทางในการป้องกันในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งสมาชิกในทีมและองค์กร

————————–
รู้จักเจ้าของโมเดล
————————–

Bruce Tuckman - Inspire Archive

ศาสตราจารย์ Bruce Tuckman ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 1938 จบปริญญาเอกจาก Princeton University เป็นนักวิจัยในสาขาจิตวิทยาที่ The Ohio State University ซึ่งท่านได้เผยแพร่ Tuckman’s stages of group development เมื่อปี 1965 โดยช่วงแรกจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะแรก จนปี 1977 ท่านก็เพิ่มระยะแยกย้าย หรือ Adjourning เข้ามาในภายหลัง ท่านมีชื่อเสียงในสาขาจิตวิทยาการศึกษา และศึกษาพลวัตของกลุ่มคนและทีมเป็นการเฉพาะ ท่านเสียชีวิตไปในปี 2016