Virtual Reality หรือ VR เป็นรูปแบบสื่อใหม่ที่มีอิทธิพลในวงกว้างมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเกม ซึ่งให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ สมจริง มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงยังสามารถต่อยอดไปสู่อีกหลาย ๆ วงการ เช่น การนำไปใช้ในการผ่าตัดระยะไกลของวงการแพทย์
แต่ปัญหาตามมาของ VR ก็คือ “ความเมา” ที่อาจทำให้ผู้ใช้งาน VR เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ จุกเสียดท้อง ซึ่งจะเกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น ทำให้ผู้พัฒนา VR และเกมต่างก็ต้องกุมขมับ ไม่ว่าจะเป็น Playstation VR หรือ Occulus ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอาการเมา VR ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งาน VR และผู้เล่นเกมจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเล่นเกม 3D ที่มีภาพเคลื่อนไหวมาก ๆ ได้ เนื่องจากเกิดอาการที่เรียกว่า Simulator Sickness หรือ ภาวะป่วยจากระบบจำลอง
จากการที่นักบินเฮลิคอปเตอร์ในกองทัพสหรัฐประสบกับภาวะ Simulator Sickness ระหว่างฝึกบินด้วย Flight Sim จำนวนมาก จึงมีการวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุของภาวะนี้ ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ ความขัดแย้งทางประสาทสัมผัส (Sensory Conflict Theory) อธิบายว่า Simulator Sickness ทำให้ระบบประสาทการมองเห็นของคนเรารับรู้ถึงการเคลื่อนที่ ในขณะที่ระบบประสาทสัมผัสไม่ได้รับรู้สภาพแวดล้อมตามไปด้วย จึงทำให้สมองเกิดอาการรวน และมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการเมาออกมา
อาการของ Simulator Sickness มีอะไรบ้าง
จากแบบทดสอบ Simulator Sickness Questionnaire (SSQ) ได้แบ่งอาการ Simulator Sickness ออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
- กลุ่มอาการคลื่นไส้อาเจียน การหลั่งน้ำลายที่เพิ่มขึ้น การขับเหงื่อ เสียดท้อง และการเรอ
- กลุ่มอาการกล้ามเนื้อตา ความเมื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดตา และปัญหาในการโฟกัสภาพ
- กลุ่มอาการสับสน ได้แก่ เวียนศีรษะ (ทั้งตอนลืมตาและหลับตา)
แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร
- ประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ ยิ่งฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพไม่ดี ก็จะทำให้เกมหรือ VR มีความหน่วง มีผลสำคัญอย่างมาก เพราะหากผู้ใช้งาน VR หันหน้าไปมา แล้วระบบตรวจจับได้ช้า ทำให้ภาพเกิดการหน่วงเวลา จะยิ่งทำให้อาการเมาเพิ่มสูงขึ้น
- การกระพริบของภาพ (Refresh rate) ยิ่ง Refresh rate สูง ภาพลื่นใหลมากเท่าไหร่ ยิ่งลดโอกาสที่จะเกิดอาการเมามากขึ้นเท่านั้น
- ยิ่งภาพกราฟิกสมจริงมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการเมามากขึ้น นั่นเพราะสมองจะยิ่งไม่สามารถแยกภาพจริงกับภาพเสมือนออกจากกันได้
- ระยะเวลาใช้งาน ยิ่งใช้งานต่อเนื่องนาน ยิ่งทำให้เกิดอาการเมาได้มากขึ้น โดยในกรณี Occulus ได้ระบุไว้ในคู่มือของ Occulus Rift ว่าให้หยุดพักเป็นระยะ
- อายุ จากการวิจัยพบว่าอายุที่มากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการเมาได้มากขึ้น
- ประสบการณ์ใช้งาน VR มีส่วนสำคัญ หากเคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว อาการเมาก็มีแนวโน้มจะลดลง
นอกจากแนวทางข้างต้น ปัจจัยพื้นฐานก็สำคัญเช่นกัน เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ ระยะห่างระหว่างหน้าจอ (กรณีใช้จอ) การหยุดพัก เป็นต้น ก็จะช่วยให้ Simulator Sickness มีแนวโน้มอาการที่ลดลงได้ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีสูตรสำเร็จในการเอาชนะ Simulator Sickness ได้อย่างสิ้นเชิงก็ตาม
ที่มา :
Eunhee Chang, Hyun Taek Kim & Byounghyun Yoo (2020) Virtual Reality Sickness: A Review of Causes and Measurements, International Journal of Human–Computer Interaction, 36:17, 1658-1682, DOI: 10.1080/10447318.2020.1778351