fbpx

Simulator Sickness – Factsheet No.3

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์

Virtual Reality หรือ VR เป็นรูปแบบสื่อใหม่ที่มีอิทธิพลในวงกว้างมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเกม ซึ่งให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ สมจริง มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงยังสามารถต่อยอดไปสู่อีกหลาย ๆ วงการ เช่น การนำไปใช้ในการผ่าตัดระยะไกลของวงการแพทย์

แต่ปัญหาตามมาของ VR ก็คือ “ความเมา” ที่อาจทำให้ผู้ใช้งาน VR เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ จุกเสียดท้อง ซึ่งจะเกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น ทำให้ผู้พัฒนา VR และเกมต่างก็ต้องกุมขมับ ไม่ว่าจะเป็น Playstation VR หรือ Occulus ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอาการเมา VR ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งาน VR และผู้เล่นเกมจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเล่นเกม 3D ที่มีภาพเคลื่อนไหวมาก ๆ ได้ เนื่องจากเกิดอาการที่เรียกว่า Simulator Sickness หรือ ภาวะป่วยจากระบบจำลอง

จากการที่นักบินเฮลิคอปเตอร์ในกองทัพสหรัฐประสบกับภาวะ Simulator Sickness ระหว่างฝึกบินด้วย Flight Sim จำนวนมาก จึงมีการวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุของภาวะนี้ ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ ความขัดแย้งทางประสาทสัมผัส (Sensory Conflict Theory) อธิบายว่า Simulator Sickness ทำให้ระบบประสาทการมองเห็นของคนเรารับรู้ถึงการเคลื่อนที่ ในขณะที่ระบบประสาทสัมผัสไม่ได้รับรู้สภาพแวดล้อมตามไปด้วย จึงทำให้สมองเกิดอาการรวน และมีแนวโน้มที่จะแสดงอาการเมาออกมา

อาการของ Simulator Sickness มีอะไรบ้าง

จากแบบทดสอบ Simulator Sickness Questionnaire (SSQ) ได้แบ่งอาการ Simulator Sickness ออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • กลุ่มอาการคลื่นไส้อาเจียน การหลั่งน้ำลายที่เพิ่มขึ้น การขับเหงื่อ เสียดท้อง และการเรอ
  • กลุ่มอาการกล้ามเนื้อตา ความเมื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดตา และปัญหาในการโฟกัสภาพ
  • กลุ่มอาการสับสน ได้แก่ เวียนศีรษะ (ทั้งตอนลืมตาและหลับตา)

แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร

  1. ประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ ยิ่งฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพไม่ดี ก็จะทำให้เกมหรือ VR มีความหน่วง มีผลสำคัญอย่างมาก เพราะหากผู้ใช้งาน VR หันหน้าไปมา แล้วระบบตรวจจับได้ช้า ทำให้ภาพเกิดการหน่วงเวลา จะยิ่งทำให้อาการเมาเพิ่มสูงขึ้น
  2. การกระพริบของภาพ (Refresh rate) ยิ่ง Refresh rate สูง ภาพลื่นใหลมากเท่าไหร่ ยิ่งลดโอกาสที่จะเกิดอาการเมามากขึ้นเท่านั้น
  3. ยิ่งภาพกราฟิกสมจริงมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการเมามากขึ้น นั่นเพราะสมองจะยิ่งไม่สามารถแยกภาพจริงกับภาพเสมือนออกจากกันได้
  4. ระยะเวลาใช้งาน ยิ่งใช้งานต่อเนื่องนาน ยิ่งทำให้เกิดอาการเมาได้มากขึ้น โดยในกรณี Occulus ได้ระบุไว้ในคู่มือของ Occulus Rift ว่าให้หยุดพักเป็นระยะ
  5. อายุ จากการวิจัยพบว่าอายุที่มากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการเมาได้มากขึ้น
  6. ประสบการณ์ใช้งาน VR มีส่วนสำคัญ หากเคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว อาการเมาก็มีแนวโน้มจะลดลง

นอกจากแนวทางข้างต้น ปัจจัยพื้นฐานก็สำคัญเช่นกัน เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ ระยะห่างระหว่างหน้าจอ (กรณีใช้จอ) การหยุดพัก เป็นต้น ก็จะช่วยให้ Simulator Sickness มีแนวโน้มอาการที่ลดลงได้ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีสูตรสำเร็จในการเอาชนะ Simulator Sickness ได้อย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ที่มา :
Eunhee Chang, Hyun Taek Kim & Byounghyun Yoo (2020) Virtual Reality Sickness: A Review of Causes and Measurements, International Journal of Human–Computer Interaction, 36:17, 1658-1682, DOI: 10.1080/10447318.2020.1778351